อพท.ผนึก กรมทรัพยากรธรณี ผลักดัน เชียงราย ขึ้นอุทยานธรณีระดับโลก นำร่อง “ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน” พร้อม ลุยศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดเชียงรายสู่เมืองสร้างสรรค์ตามเกณฑ์ยูเนสโก้ภายในปี 2568 หวังดึงสายท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สัมผัสธรรมชาติ และผจญภัย
ดร. ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เปิดเผยว่า ได้จับมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรธรณีและ อพท. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการขับเคลื่อนอุทยานธรณีจังหวัดเชียงราย ขึ้นสู่อุทยานธรณีระดับโลก ความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมกันศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดทำแผนการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณี หรือ Geopark ตามแนวทางนโยบายของ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. และผลักดันให้เชียงรายเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก้ (UNESCO Creative Cities Network – UCCN)
“ในเบื้องต้นเป็นการทำงานระยะสั้น ซึ่งจะเป็นการร่วมทำงานระหว่างสองหน่วยงานคือ อพท. กับกรมทรัพยากรธรณี เพื่อขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว จากนั้นทั้งสองหน่วยงานจะประสานกับจังหวัดเชียงรายและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้แก่คนในพื้นที่ ให้ได้รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วมจัดทำแนวทางการดำเนินงาน เพราะการบูรณาการทำงานร่วมกันถือเป็นแนวปฏิบัติของ อพท. ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ”
ขั้นตอนการดำเนินงานจะเปิดกว้างระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมเครือข่ายการทำงานร่วมกันตามกรอบยูเนสโก เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ อพท. เห็นชอบ ก่อนจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ททช. เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามลำดับต่อไป
ส่วนการผลักดันอุทยานธรณี Geo-Park ตามแนวทางของ UNESCO จำเป็นต้องอาศัยแนวทางในการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการแบบองค์รวม ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยต้องอาศัยการเชื่อมโยงมรดกทางธรณีเข้ากับมรดกทางนิเวศวิทยา วัฒนธรรมและโบราณคดีของพื้นที่ พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจถึงคุณค่าของพื้นที่ ในลักษณะของการท่องเที่ยวเชิงธรณีโดยชุมชนท้องถิ่น เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่จะมาช่วยผลักดันอุทยานธรณีด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“นอกจากการพัฒนาอุทยานธรณี ตามแนวทางของยูเนสโกแล้วนั้น ยังมีพื้นที่โดยรอบอุทยานธรณี ซึ่งเป็นแหล่งชุมชน ที่อพท. จะใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ซึ่งจะประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านการบริหารจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยว มิติด้านสังคม-เศรษฐกิจ มิติด้านวัฒนธรรม และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ นำไปพัฒนาพื้นที่และชุมชนโดยรอบ ให้ชุมชนและพื้นที่รู้จักเรื่องการจัดการ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรอบรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน” ดร. ชูวิทย์กล่าว
การ MOU ครั้งนี้เป็นไปเพื่อใช้ศักยภาพของทั้งสองหน่วยงานมาช่วยส่งเสริมการใช้ศักยภาพของหน่วยงานท้องถิ่น และจังหวัด รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการอุทยานธรณี โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่องค์ความรู้และอัตลักษณ์ เพื่อนำไปสู่การร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมเครือข่ายการทำงานร่วมกันตามกรอบยูเนสโก เพื่อประเทศไทยได้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวระดับคุณภาพ นำมาสู่การสร้างการกระจายรายได้มาสู่ชุมชน ท้องถิ่น และภายในประเทศ
อย่างไรก็ตามแผนการศึกษาในครั้งนี้ จะนำร่องที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ นอกจากทางด้านธรณีวิทยาแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอนุรักษ์เชิงอนุรักษ์ หรือ เชิงนิเวศ ตามแผนปฎิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ที่ต้องมีการอนุรักษ์ทรัพยากร และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวมีความสนใจ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการกู้ภัยครั้งสำคัญระดับโลก ที่เป็นความร่วมมือของระดับนานานชาติในการเข้าไปช่วยเหลือ 13 นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่า และได้มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก จึงเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวตามแนวทางของยูเนสโก้ที่กำหนดไว้ โดย อพท.มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีระดับโลกตามเกณฑ์ของยูเนสโก้ภายในปี 2568