สสส. เฟ้น “สุดยอดนวัตกรรม” ภาคกลาง

13

สสส. เฟ้น “สุดยอดนวัตกรรม” ภาคกลาง ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เน้นปรับตัวพร้อมรับมือภาวะปกติ-วิกฤติ ปักธง 6 เรื่อง “สังคมสูงวัย-สิ่งแวดล้อม-ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ-เศรษฐกิจชุมชน-สวัสดิการและสุขภาพชุมชน-พึ่งตนเองด้านอาหาร” ใช้ฐานสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น 200 คน/ตำบล พลังเปลี่ยนแปลงสังคม ​

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พื้นที่ภาคกลาง โดยมี ประภาศรี บุญวิเศษ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคกลาง สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กรรมการบริหารแผน ผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย (ศวภ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 92 แห่ง เข้าร่วมรวมกว่า 600 คน

ธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส.กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 1 ทศวรรษของการขับเคลื่อนการทำงานร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้แผนสุขภาวะชุมชน ได้จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค เพื่อสรุปบทเรียนการดำเนินงานร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ในแต่ละภูมิภาค เสริมศักยภาพผู้นำชุมชนท้องถิ่นให้สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์รูปธรรมการปรับตัวหรือตั้งรับ (resilience) ของชุมชนท้องถิ่นทั้งในสถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์วิกฤติ และขยายผลแนวคิด แนวทางการดำเนินงานเครือข่ายสู่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สร้างทศวรรษที่น่าอยู่ บนฐานทุนทางสังคม และศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ผ่านกลไกการทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สานพลังขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ ประกอบด้วย ท้องถิ่น ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น องค์กรชุมชนหรือภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ สู่การสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง

​“ผู้สูงอายุ เศรษฐกิจชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาหารชุมชน สุขภาวะชุมชนในการรับมือโรคอุบัติใหม่” เป็นประเด็นที่ทั้ง 4 ภูมิภาคตกผลึกตรงกันที่จะกำหนดทิศทางในการพัฒนาขับเคลื่อนสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง โดยมีกระบวนการคัดเลือกสุดยอดนวัตกรรม 3 ประเภท คือ นวัตกรรมเชิงระบบ นวัตกรรมเชิงกระวบการ และนวัตกรรมเชิงเทคนิค เพื่อเป็นแนวทางให้กับพื้นที่อื่นๆ”ธวัชชัยกล่าว

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สสส.และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ขับเคลื่อนสร้างนวัตกรรมโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมกับการแก้ปัญหาชุมชนท้องถิ่น คือ 1. บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ฯลฯ ให้ทุกคนในชุมชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ 2. สวัสดิการชุมชน เช่น การช่วยเหลือ จัดตั้งกลุ่มด้านต่างๆ เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มฌาปนกิจ สงเคราะห์ ทั้งนี้ สสส.มีเป้าหมายที่จะร่วมกันสร้างผู้นำ ตำบลละ 200 คน และ 110 ทุนทางสังคม นั่นคือ 3,000 ตำบลของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ต้องสร้าง 600,000 ผู้นำ กับ 330,000 ทุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือนวัตกรรม เชื่อมั่นว่า เราทำได้อย่างแน่นอน และจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม ทำให้เกิดศักยภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.พีรพงษ์ บุญสวัสดิ์กุลชัย รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการขับเคลื่อนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พื้นที่ภาคกลางว่า ขับเคลื่อน 6 ประเด็นสำคัญ ที่จะร่วมกันกำหนดทิศทางในการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง คือ 1.สร้างคุณภาพสังคมเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งการเตรียมความพร้อมสถานการณ์ผู้สูงอายุ และการดูแลผู้สูงอายุในทุกมิติ 2.จัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ น้ำ เป็นต้น 3. ลดปัจจัยเสี่ยง ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคยาสูบ และความปลอดภัยบนท้องถนน 4.เศรษฐกิจชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดหนี้ เพิ่มเงินออม 5. การจัดการสุขภาพชุมชน และสวัสดิการชุมชนหลายมิติ เช่น การรับมือกับโรคติดต่อแบบ New Normal 6.สร้างอาหารปลอดภัย เน้นพึ่งพาตนเองตนเองด้านอาหารในภาวะปกติและภาวะวิกฤติการ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ครัวเรือน และชุมชน