ยุค New Normal หรือ ความปกติใหม่ ณ เวลานี้คงเป็นคำที่คุ้นชินกันโดยทั่วไป กับแนววิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ ที่พ่วงท้ายมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) โรคอุบัติใหม่ที่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและฉับพลันให้กับประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพที่ยิ่งได้รับความสนใจและเน้นย้ำให้ผู้คนต้องดูแลใส่ใจในเรื่องนี้กันอย่างเคร่งครัดกว่าที่เคยมีมา และสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและมีภาวะเสี่ยงต่ออาการหัวใจล้มเหลวแล้วซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นื้ ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลการใช้ชีวิตให้เหมาะสมในยุคความปกติใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและหัวใจแข็งแรง
โครงการ Every Beat Matters “เพราะทุกจังหวะมีความหมาย” ได้ร่วมมือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจัดทำวิดีโอ เพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้เหมาะสมในยุคความปกติใหม่ ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจล้มเหลว ที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อดูแลตนเองและป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ปลอดภัย ทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงในการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยอีกด้วย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาตร์โรคหัวใจ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำว่า “สำหรับคนไข้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับแนวทางยุคความปกติใหม่ เพื่อให้ปลอดภัยจากการเจ็บป่วยและมีสุขภาพที่ใกล้เคียงกับคนปกติให้มากที่สุด เนื่องจากผู้ที่มีโรคประจําตัวเป็นโรคหัวใจจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าคนธรรมดาถึง 5 เท่า หากติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้”
โดยวิธีการดูแลง่าย ๆ เบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด คือการเลือกวิธีการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ (Telemedicine) เพื่อช่วยลดความแออัด และการสัมผัสกันของผู้มาใช้บริการที่สถานพยาบาล อันเป็นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเสริมบริการทางการแพทย์ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษา และติดตามสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง และด้วยการจำกัดการเดินทาง และการรักษาระยะห่างทางสังคมที่กลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม โดยผู้ป่วยและผู้ที่มีภาวะเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถใช้ช่วงเวลาที่อยู่ในที่พักอาศัย ในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงได้ เช่น หมั่นออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินออกกำลังกาย ยืนแกว่งแขวน อย่างน้อย 20 นาที ต่อครั้ง แค่นี้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และความดันโลหิต ได้เป็นต้น
นอกจากนี้ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดนับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเสริมสร้างสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงขึ้นได้ ยิ่งเวลานี้การสั่งอาหารพร้อมรับประทานผ่านบริการจัดส่งที่เป็นที่นิยมขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงยิ่งต้องเพิ่มความใส่ใจในการเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ รวมทั้งความสะอาดถูกสุขลักษณะ เช่น เลี่ยงอาหารทอด มัน เค็ม ให้เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ อาทิ พืชตระกูลถั่ว ผักโขม มะเขือเทศ องุ่น ทับทิม แอปเปิ้ล ฯลฯ
การดูแลอารมณ์ให้ปกติ โดยการผ่อนคลาย หรือฝึกสมาธิ เพื่อคลายความกังวลและวุ่นวายจิตใจ หรือแม้กระทั่งการการเลี่ยงการบริโภคข่าวสาร โดยเฉพาะจากช่องทางออนไลน์จนมากเกินไป ก็สามารถลดการเกิดอาการได้ ในทางกลับกันควรจะทำกิจกรรมหรือสื่อสารกับคนในครอบครัวให้มากขึ้น เพื่อเติมเต็มความต้องการในการเข้าสังคมในช่วงที่ต้องถอยห่างจากสังคมภายนอกระหว่างการระบาดของโรคเช่นนี้
และเมื่อต้องออกจากที่พักไปพบปะกับผู้คนภายนอก ก็ไม่ควรละเลยการป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่มีมาตราฐาน และหมั่นทำความสะอาดมืออยู่เสมอ ที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับควันบุหรี่ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จะเป็นการดูแลหัวใจของเราให้แข็งแรงในยุคความปกติใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ กล่าวเสริม
ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Every Beat Matters “เพราะทุกจังหวะมีความหมาย” ได้ โดยสามารถเข้าไปรับชมวิดีโอและแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์นี้ที่ Facebook https://www.facebook.com/EveryBeatMatters.in.th/ รวมทั้งข้อมูลความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลว