ภารกิจสุดหินของทายาทรุ่น 3 กลุ่มดุสิตธานี ศิรเดช โทณวณิก ปั้นเชนใหม่ “อาศัย” ฝ่าวิกฤตโควิด

ศิรเดช โทณวณิก

โควิด 19 กำลังระบาดทั่วโลก ยุโรปเผชิญหน้ากับการระบาดรอบสอง ขณะที่ไทยเองน่านฟ้าก็ยังไม่เปิด อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศยังทรุดหนัก หาดทรายขาวและทะเลสีฟ้า ถูกปล่อยไว้อ้างว้าง ไร้ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสัมผัส แต่นั่น ก็ไม่ได้ทำให้ ศิรเดช โทณวณิก ทายาทกลุ่ม “ดุสิตธานี” เลิกล้มความคิด ที่จะเปิดโรงแรมแบรนด์ใหม่ของเครือที่ชื่อ “อาศัย” (ASAI) ลงได้

ทำไมคุณแชมป์ (ชื่อเล่นของ ศิรเดช) ถึงกล้ามาก ที่เปิดโรงแรมในช่วงวิกฤตโควิดเช่นนี้? พวกเราชาว The Balance ยิงคำถามแรกทันที เมื่อการสัมภาษณ์เริ่มต้นขึ้น “เป็นโครงการของพวกเรา ที่เตรียมการไว้ตั้งแต่โควิดจะระบาด” ศิรเดช โทณวณิก กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาศัย โฮลดิ้งส์ จำกัด บอกกับพวกเราด้วยรอยยิ้ม พร้อมกับยอมรับว่า ช่วงนี้เป็นช่วงไม่ดี บรรยากาศไม่เต็มใจ จึงต้อง “เหนื่อย” มากกว่าปกติ แต่โลกของธุรกิจต้องดำเนินไป แม้ปัญหารุมเร้าจากโรคระบาดโควิด 19 ยังไม่คลี่คลายก็ตามที

“อาศัย” เป็นโรงแรมแบรนด์ที่ 5 ของกลุ่มดุสิตธานีนี้ แบรนด์น้องใหม่นี้ ตั้งอยู่ใจกลางย่านเมืองเก่าเยาวราช สะดวก เดินทางไปก็ง่าย เพียงไม่กี่ก้าวจากสถานีวัดมังกร มีขนาด 224 ห้อง เปิดเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เน้นจับกลุ่มนักท่องเที่ยว ผู้ต้องการแสวงหาเรื่องราว ค้นพบโลกใบใหม่ สนใจในเรื่องราวจากวัฒนธรรม วิถีชีวิต ไปจนถึงอาหาร รวมถึงกลุ่มคนที่ทำงานและท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน ที่เรียกกันว่า Bleisure รวมๆแล้วลูกค้าของโรงแรมไม่จำกัดเรื่องอายุ เป็นกลุ่มที่ต้องการ “meaningful life over meaningful journey” มากกว่า

แม้จะเปิดตัวในช่วงวิกฤต แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะเลวร้ายไปเสียหมด ในวิกฤตนั้นย่อมมีโอกาสเสมอ และศิรเดชเองก็คิดเช่นนั้น เขามองว่า วิกฤตโควิดจึงน่าจะเป็นเรื่องดี ถือเป็นการทดสอบการดำเนินงานไปในตัว เพราะว่าโรงแรมนี้มีแนวคิดคือ ต้องการบริหารแบบ “lean” ให้มากที่สุด มีการจัดการองค์กรให้มีความคล่องตัวสูง และใช้คนน้อย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในยุค New Normal ในช่วงเวลานี้พอดิบพอดี ที่ต้องควบคุมต้นทุนให้มากที่สุด โดยการลด cost ที่ไม่จำเป็นลง แต่ด้วยบนพื้นฐานของการให้บริการด้วยคุณภาพสูงสุดและรักษา customer experience ภายใต้ปรัชญาที่กลุ่มดุสิตธานี ที่ได้ให้ความสำคัญมาตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง นอกจากนี้ ศิรเดชยังมองหาลูกเล่นใหม่ๆให้กับโรงแรมอาศัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้พักให้ตรงจุด พร้อมกับมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาช่วย

“เราทำให้มัน lean แต่เราเอาอะไรที่สำคัญๆใส่เข้าไปด้วย แล้วมาดูความ balance กันให้มันเป็นแบบ lean luxury” ศิรเดช อธิบายเพิ่ม พร้อมบอกว่า luxury มันไม่ได้หมายความว่า หรูหรา หรือความแพง แต่มันหมายถึง ความมีระดับ ความมีรสนิยม และมีคุณภาพของการให้บริการอย่างเต็มเปี่ยม

เขาอธิบายการควบคุม cost ของโรงแรมอาศัยให้พวกเราเข้าใจมากขึ้น อย่างเช่น โรงแรมมีจำนวน 224 ห้อง มีพนักงาน 60 คน staff room ratio อยู่ที่ 3.37-3.38 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำมากกว่าปกติ ทั้งยังมีการทำ reorganization workforce มีการหมุนเวียนงานให้รับผิดชอบ และมีการควบ cost ในงานด้านต่างๆที่ไม่จำเป็นลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มี yield ค่อนข้างต่ำ

ในช่วงแรก โรงแรมอาศัยเปิดให้เข้าพักกว่า 60 ห้อง และคาดว่า จะเปิดเต็มที่ในเดือนนี้

อีกหนึ่งที่ ศิรเดช ให้ความสำคัญคือ creativity ซึ่งเขาเชื่อว่า จะเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจโรงแรมของเขามีจุดขาย สร้างจุดต่าง โดยบนแนวทาง creativity นี้ เขาและภรรยา (ณัฐภาณุ์ ศรียุกต์สิริ) พยายามนำเรื่องราวของย่านเก่าเยาวราช ที่อบอวนไปด้วยประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของชุมชนชาวจีน (neighborhood) และตำนานของอาหารสุดอร่อย มาผูกเป็น content ให้น่าสนใจ ร้อยเรียงเป็นจุดขาย ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้คนให้เขามาพัก

ในตัวโรงแรมเอง ก็มี creativity ไม่แพ้กัน อย่างบริเวณล็อบบี้ ก็มีการออกแบบให้เป็นพื้นที่แบบสารพัดประโยชน์ เป็นพื้นที่โปร่ง ตกแต่งแบบมีสไตล์อบอุ่น ภายใต้คอนเซปต์ “Eat, Work, Play” เสมือนพักอยู่กับบ้าน มีไว้เพื่อเป็นที่พบปะพูดคุย นั่งทำงาน นั่งทานอาหาร และพักผ่อนร่วมกัน และพื้นที่ใกล้ๆกันนั้น ยังเป็นฟาร์มปลูกผักขนาดย่อม เป็นลานกว้างที่รับแสงอาทิตย์จากหลังคา แสงแดดที่ทอดตัวลงมา ได้ช่วยสร้างชีวิตชีวาให้กับผู้พักอาศัยและพืชผักที่ปลูกอย่าง สาระแหน หรือผักสลัด ซึ่งทั้งหมดนำมาประกอบอาหารให้กับผู้พักจริง ไม่ใช่เป็นฟาร์มตัวอย่างแบบไร้ประโยชน์ ทั้งหมดนี้ เป็นความตั้งใจของศิรเดชล้วนๆ ที่ต้องการบรรจุแนวทางแห่ง “ความยั่งยืน” (Sustainability) ฝังตัวลงในการดำเนินงานของโรงแรม

“พวกเรา ยังมีบริการห้องอาบน้ำ สำหรับลูกค้าที่ยัง check-in ไม่ได้ เพราะเดินทางมาถึงก่อนเวลา” ศิรเดช กล่าว และบอกว่า นี่คือ การตอบโจทย์ pain point นักท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง เขาบอกว่า ทุกครั้งเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ บางครั้งเจอปัญหาคือ ไม่สามารถที่จะ check-in ได้เพราะยังไม่ถึงเวลา และในช่วงเวลานั้นเอง สิ่งแรกที่เขาโหยหามากที่สุดคือ การอาบน้ำ เพื่อเรียกความสดชื่นจากการเดินทางข้ามคืนอันเหน็ดเหนื่อย

“โรงแรมอาศัย เป็นเหมือน hidden gem ของย่านเยาวราช” ศิรเดชบอกเพิ่ม พร้อมอธิบายว่า บรรยากาศที่เงียบสงบอย่างมีดีไซน์ เป็นเสมือนคนมาพักได้หลุดมาอีกโลกหนึ่ง หลังจากเหนื่อยล้ากับความวุ่นวายภายนอก

ศิรเดช โทณวณิก

ศิรเดช เป็นลูกชายของ ชนินทร์ โทณวณิก ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล ที่จะนำพากลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ไปข้างหน้า ปัจจุบันกลุ่มฯ ดำเนินธุรกิจครอบคลุม 5 กลุ่มคือ ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจอาหาร ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต้อนรับ โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมมี 6 แบรนด์หลักคือ ดุสิตธานี, ดุสิตเดวาราณา, ดุสิตดีทู, ดุสิตปริ๊นเซส, อีลิธฮาเวนส์ และอาศัย รวมกว่า 300 แห่งใน 14 ประเทศทั่วโลก

ชายหนุ่มวัย 34 ปี เป็นเด็กนอกมีดีกรีทางด้านรัฐศาสตร์ อยู่กับธุรกิจโรงแรมมาทั้งชีวิต ในฐานะรุ่นที่ 3 เขาเองก็ต้องการจะปรับเปลี่ยนแปลงกลุ่มดุสิตธานีให้สอดคล้องกับยุคสมัย พร้อมต่อยอดของเก่าที่มีอายุกว่า 70 ปี ที่คุณพ่อและคุณย่า (ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งกลุ่มดุสิตธานี ปัจจุบันถึงแก่อนิจกรรม) ช่วยกันสร้างกลุ่มดุสิตธานีขึ้นมาจนเป็น heritage ที่นานาชาติยอมรับ ปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานี ยังมีผู้บริหารมืออาชีพอย่าง ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ที่เป็นอีกเสาหลักใหญ่ ที่ช่วยสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้กับกลุ่มฯ

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ และศิรเดช โทณวณิก

การปลุกปั้น “ โรงแรมอาศัย” เป็นหนึ่งในภารกิจที่ท้าทายของศิรเดช ที่จะปั้นโรงแรมในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ที่เขาอยากให้เป็น เขามีอำนาจบริหารและมีอิสระทางความคิดอย่างเต็มที่ แม้ว่า กลุ่มดุสิตจะถือหุ้นอยู่ 100% ก็ตามที เขาวางแผนไว้ว่า จะเปิดอีก 6 แห่งในอนาคต ได้แก่ 1 แห่งที่เขตสาทร, 3 แห่งในเซบู ประเทศฟิลิปปินส์, 1 แห่งในย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองยานคินอันเก่าแก่ และอีก 1 แห่งในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดจะทยอยเปิดตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมในยุคของคุณพ่อและคุณย่า เทียบไม่ได้กับยุคของศิรเดช ซึ่งศิรเดชมองว่า ไม่เพียงธุรกิจโรงแรมที่เปลี่ยนไปหลังจากการระบาดของโควิด 19 หรือ ได้รับผลกระทบจากเทรนด์ของเทคโนโลยีการประชุมทางไกล ที่ลดการเดินทางของกลุ่มนักธุรกิจลง แต่พฤติกรรมการเดินทางของนักเดินทางก็เปลี่ยนไปอีกด้วย การเดินทางท่องเที่ยวของพวกเขา เป็นอะไรที่มากกว่าการพักผ่อน และโรงแรมเองก็เช่นกัน ไม่ได้เป็นแค่ที่พักอีกต่อไป แต่ต้องเป็นอะไรมากกว่านั้น

หนึ่งในนั่น ศิรเดชก็มองว่า โรงแรมเป็น “platform” อย่างหนึ่ง เหมือนกับแบรนด์อย่าง Apple โดยวางตำแหน่งโรงแรมเป็นที่สร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ โดยร่วมมือกับคนหรือบริษัทข้างนอก เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการหารายได้ หรือสร้าง traffic ให้กับโรงแรม หรือแม้แต่ร้านอาหารเอง ก็ไม่จำเป็นที่กลุ่มดุสิตธานีฯ ต้องลงทุนเองทั้งหมด แต่อาจจะร่วมทุนกับบริษัทข้างนอก ในลักษณะการลงทุนแบบ win win ทั้งคู่ ปัจจุบันนี้ หมดสมัยแล้วที่จะทำงานคนเดียวเพื่อความสำเร็จ

“ธุรกิจโรงแรมไมได้เปลี่ยนมานานแล้ว ตลาดเปลี่ยนไป เหมือน disruption อย่างหนึ่ง ไม่ได้เป็น paradigm shift เหมือนธนาคาร ตอนนี้ เราต้องลง details มากขึ้น” ศิรเดช กล่าว

“เมื่อก่อนเรามี product ไม่ได้คิดถึง programming เราคิดว่า คนมาอยู่ มองหาอย่างอื่น ไม่ใช่ที่นอนอย่างเดียว ใน gen เรา ต้องทำแต่ละโรงให้ unique…เราต้องใช้ heritage ให้เป็นภาพบวก มันสร้างขึ้นมาไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้มัน relevant กับสังคม”

แต่การนำเปลี่ยนแปลงมาสู่กลุ่มดุสิตธานีดูเหมือนไม่ง่ายอย่างที่คิด หนุ่มไฟแรงยอมรับว่า ปัจจุบันยังมี “ช่องว่าง” ทางความคิดระหว่างคนรุ่นพ่อกับคนรุ่นลูก คุณพ่อจะมีแนวคิดเชิงอนุรักษ์ เน้นเดินช้าหน่อย แต่มั่นคงและไม่เสี่ยงมาก ขณะที่ศิรเดช เน้นเร็ว พร้อมกล้าได้กล้าเสีย ซึ่งทำให้บ่อยครั้งเกิดการถกเถียง และมีภรรยาเป็นตัวกลาง คอยประสานความคิดของทั้งสองฝ่าย

ศิรเดชบอกว่า ปัจจุบันความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ เหมือนดังเช่นที่กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดโควิด 19 ณ ขณะนี้ กล่าวคือ ต้องคิดเร็ว ทำเร็ว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การบริหารโรงแรมอาศัย ไม่สามารถวางแผนนานไม่ได้ เพราะไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย ต้องคอยพลิกตำราแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าการระบาดของโรคโควิด 19 จะยืดเยื้อไปอีกเมื่อไร หรือจะมีการระบาดรอบสองอีกหรือไม่

ท้ายสุดเขาบอกว่า การระบาดของโควิด 19 จะมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย ที่จะล้มหายตายจากไปจากอุตสาหกรรมนี้อย่างแน่นอน เพราะปัญหาสภาพคล่องในธุรกิจ ไม่สามารถทนกับผลกระทบโควิดได้ และกลุ่มดุสิตธานี ตอนนี้ก็ดำเนินงานอย่างระมัดระวังที่สุดเช่นกัน เพื่อรักษาชีวิตและ heritage ของกลุ่มฯ ที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ ให้ดำรงต่อไปอย่างยั่งยืน