สสส.ผนึกภาคีลงนาม MOU หนุน หลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่น นำร่อง 30 โรงเรียน 3 จังหวัดภาคเหนือ

17

สสส.ผนึกภาคีลงนาม MOU หนุน หลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่น นำร่อง 30 โรงเรียน 3 จังหวัดภาคเหนือ ลดวิกฤตฝุ่นควัน ปลูกฝังเด็กประถมฯ รู้อันตราย PM 2.5 ด้านส.ส.เชียงราย ชื่นชม สสส. ขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นพิษ พร้อมหนุน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สร้างความตระหนักรู้ ปลูกจิตสำนึกเด็กมีองค์ความรู้ในการป้องกันวิกฤตฝุ่นพิษ-หมอกควันเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทั้งประเทศอย่างยั่งยืน

ประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สมาคมยักษ์ขาว และโรงเรียนนำร่อง 30 แห่ง ในจังหวัดแพร่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เพื่อทดลองใช้หลักสูตรส่งเสริมการรับมือกับฝุ่นสภาวะวิกฤตในนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา โดยมีนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย เข้าร่วมรับฟังพร้อมร่วมเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา

ประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากรายงานการรักษาผู้ป่วยได้รับผลประทบจากฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานที่มารักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มียอดผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเฉลี่ย 2,200 คนต่อวัน ส่วนใหญ่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และแสบตา ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2562 มีผู้ป่วยเฉลี่ยเกือบ 20,000 คนต่อวัน โดยประชากรเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจได้รับผลกระทบทางสุขภาพมากที่สุด

​“เด็กและเยาวชนในพื้นที่สูงในภาคเหนือตอนบนเป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากกว่าเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเมือง ขณะที่พื้นที่เชียงราย แพร่ และแม่ฮ่องสอน มักประสบปัญหามีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินกว่ามาตรฐาน และมีจุดความร้อน (Hotspot) มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และยังพบว่าขาดทรัพยากรด้านต่าง ๆ ในการรับมือกับปัญหานี้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่ได้เข้าเสริมทรัพยากรด้านความรู้ และดึงการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและภาครัฐ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ด้วยความหวังส่งเสริมให้เด็กในพื้นที่เป็นพลเมืองตื่นรู้ต่อปัญหา เติบโตไปเป็นเกษตรกรที่ไม่เผา” ประจญ กล่าว

​ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่นตั้งแต่ระดับพื้นที่ ไปจนถึงระดับนโยบาย ด้วยการดึงศักยภาพของภาคประชาสังคมขึ้นมาสะท้อนปัญหา ระดมหาทางออกร่วมกับภาควิชาการและภาครัฐ แต่การจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรเริ่มปลูกฝังเด็กให้มีค่านิยมไม่เผาป่าและเผาไร่ สสส. จึงสนับสนุนให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สำรวจและออกแบบหลักสูตรเสริมการรับมือกับฝุ่นสภาวะวิกฤต (ห้องเรียนสู้ฝุ่น) สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งหมด 10 ประเด็น โดยให้ความรู้ในการรับมือกับฝุ่น PM2.5 และสร้างจิตสำนึกการไม่ก่อให้เกิดไฟ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำไปทดลองสอนในโรงเรียนบ้านผาเดื่อ และโรงเรียนเจดีย์หลวงพิทยา จ.เชียงราย

​“ผลการสอนในโรงเรียนนำร่องพบว่า นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาและอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ในระดับดี-ดีมาก สามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดค่าฝุ่นที่สนับสนุนการติดตั้งโดยสมาคมยักษ์ขาว และติดธงโรงเรียนเพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทำให้ทั้งนักเรียนและครู สามารถป้องกันและดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างทันท่วงที เด็กนักเรียนยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสื่อสารต่อให้กับพ่อแม่คนใกล้ชิดได้ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ช่วยเสริมสนุนและผลักดันให้เกิดข้อบัญญัติท้องถิ่นขึ้นในอนาคต ส่วนการลงนามความร่วมมือในวันนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายจะได้นำหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่นไปใช้กับโรงเรียนทั้ง 30 แห่ง และถอดบทเรียนการดำเนินงาน เพื่อให้จังหวัดอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ขณะเดียวกันทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้เตรียมสนับสนุนโครงการนี้ด้วยการขยายผลไปยังโรงเรียนนำร่องในจังหวัดอื่นในภาคเหนือ” นายชาติวุฒิ กล่าว

ด้านวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัยกล่าวชื่นชม สสส. ที่ขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ในครั้งนี้ เป็นวิธีที่การกระตุ้น ส่งเสริมที่ตรงจุดและเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากการสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็กๆ ได้รู้เรื่องภัยคุกคามจากฝุ่นและรู้วิธีรับมือเมื่อชุมชนเกิดปัญหาการเผาไหม้ในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด

“ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ สสส. ที่สนับสนุนโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เพราะ ตอบโจทย์พื้นที่ทำให้เด็กที่ได้เรียนรู้หลักสูตรมีวิธีรับมือกับฝุ่น PM2.5 และสามารถส่งต่อไปยังผู้ปกครอง คนในชุมชนได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการปลูกจิตสำนึกที่ตรงจุดและดีที่สุด ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปสู่ระดับนโยบาย”

วิสาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงรายทุกพรรคการเมือง เข้าร่วมรับฟังแนวทางแก้ปัญหาการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงราย ร่วมกับนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมาตลอด ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 ประเด็นใหญ่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ 1. สร้างองค์ความรู้เรื่องการรับมือฝุ่นในระดับท้องถิ่น ชุมชน เพื่อตัดตอนปัญหาไฟป่าได้รวดเร็วเมื่อเผชิญปัญหาหมอกควัน จากการเผาไหม้ 2.สนับสนุนเทคโนโลยีการจับความร้อน hotspot ตามพื้นที่ต่างๆ ให้ทันสมัย ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการได้สรุปผลการศึกษาการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เรียบร้อย และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบส่งผลการศึกษาให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว