“โรคลมพิษ” โรคยอดฮิตที่กวนใจ

18

โรคลมพิษ เป็นโรคผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย ขนาดของผื่นเกิดได้ตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตรหรืออาจจะมีขนาดใหญ่ถึง 10 เซนติเมตรก็ได้ อาการมักเกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขน และขา ร่วมกับมีอาการคัน แต่ผื่นลมพิษมักจะคงอยู่ไม่นาน ส่วนใหญ่ผื่นจะราบหายไปภายใน 24 ชั่วโมงโดยไม่ทิ้งร่องรอย แต่ก็อาจจะมีผื่นขึ้นใหม่ที่บริเวณอื่น

ในผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวมหรือตาบวม (angioedema) ร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นรุนแรงนี้ มีเพียงจำนวนน้อย

เนื่องในวัน”โรคลมพิษโลก” ในปีนี้ศูนย์โรคลมพิษและแองจิโออีดีมา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดกิจกรรม “ศิริราชห่วงใย ชวนใส่ใจ โรคลมพิษ” ครั้งที่ 5 เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมพิษ

ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าศูนย์โรคลมพิษและแองจิโออีดีมา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคลมพิษเป็นโรคหนึ่งที่คนในสังคมรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าโรคลมพิษสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทและมีความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมพิษอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ชิดก็เป็นได้

โรคลมพิษ เป็นโรคผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย ขนาดของผื่นเกิดได้ตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตรหรืออาจจะมีขนาดใหญ่ถึง 10 เซนติเมตรก็ได้ อาการมักเกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขน และขา ร่วมกับมีอาการคัน แต่ผื่นลมพิษมักจะคงอยู่ไม่นาน ส่วนใหญ่ผื่นจะราบหายไปภายใน 24 ชั่วโมงโดยไม่ทิ้งร่องรอย แต่ก็อาจจะมีผื่นขึ้นใหม่ที่บริเวณอื่น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวมหรือตาบวม (angioedema) ร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นรุนแรงนี้ มีเพียงจำนวนน้อย

โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
1) โรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน คือ อาการผื่นลมพิษที่เป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์
2) โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง คือ อาการผื่นลมพิษเป็น ๆ หาย ๆ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ เกิดต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ในต่างประเทศมีรายงานอุบัติการณ์ของโรคลมพิษเรื้อรังประมาณร้อยละ 0.5-1 ของประชากร ส่วนข้อมูลในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน สาเหตุของโรคลมพิษเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยา การติดเชื้อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ หรือปฏิกิริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิดปกติต่ออิทธิพลทางกายภาพ แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดจากความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเอง

โดยทั่วไปโรคลมพิษเรื้อรังสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อุบัติการณ์สูงสุดในกลุ่มประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง 20-40 ปี อาจเป็นได้ว่ากลุ่มวัยทำงานมักมีอาการเครียดสะสมและอาจจะละเลยต่อการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง จึงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากขึ้น โรคลมพิษส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลในการดำเนินชีวิต

ดังนั้นการหมั่นสังเกตตนเองและคนใกล้ชิดที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็นับเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และเนื่องจากผู้ป่วยโรคลมพิษจำนวนมากอาจจะไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ดังนั้นการมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสาเหตุของโรคลมพิษจึงนับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการสังเกตตนเองและหลีกเลี่ยงภาวะที่อาจกระตุ้นให้ผื่นลมพิษแย่ลง หรือช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น

ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์

สำหรับผู้ป่วยโรคลมพิษที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคลมพิษเฉียบพลันที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือมีภาวะความดันโลหิตต่ำ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วเนื่องจากอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลรักษาอาการต่อเนื่องตามแนวทางการรักษามาตรฐาน แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮีสตามีน อาจมีความจำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปหรือยาฉีดชนิดอื่น ๆ เพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษ เมื่อควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อย ๆ ปรับลดยาลง จนถึงพยายามหยุดยาเพื่อควบคุมโรคในระยะยาว

“แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังต่อเนื่องหลายปี ดังนั้นการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายก็จะช่วยให้ควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น ซึ่งย่อมทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย และ ผื่นลมพิษเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง ผู้ป่วยและญาติจึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป” ศ.พญ.กนกวลัย กล่าวเพิ่มเติม