สธ. ตั้งคณะทำงานตรวจประเมิน เพิ่มความมั่นใจระบบควบคุมโรค ใน ASQ

14
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานกักตัวที่รัฐกำหนด หรือ ASQ ต้องผ่านมาตรฐาน 6 หมวด เร่งซักซ้อมความเข้าใจโรงแรมที่เป็น ASQ ทุกแห่ง ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ตั้งคณะทำงานตรวจประเมินเพื่อสร้างความมั่นใจในการดำเนินงาน และทบทวนการอนุญาตให้ผู้กักตัวใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรม โดยพิจารณาความเสี่ยงโรคโควิด 19 ของประเทศต้นทาง

ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวมาตรการเข้มในสถานกักตัวที่รัฐกำหนด ว่า สถานกักกันโรคเป็นการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ทำให้ระบบการจัดการโรคโควิด 19 ในประเทศมีประสิทธิภาพ โดยสถานกักตัวที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine : ASQ) ผู้เข้ากักกันจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีโรงแรมที่ประกาศเป็น ASQ แล้ว 101 แห่ง จำนวน 13,004 ห้อง อยู่ระหว่างตรวจประเมิน 2 แห่ง รออนุมัติอีก 7 แห่ง ส่วน Alternative Local Quarantine (ALQ) ในภูมิภาคที่จะรองรับการบินตรงมายังต่างจังหวัดมี 21 แห่ง ได้แก่ บุรีรัมย์ 1 แห่ง ชลบุรี 1 แห่ง ภูเก็ต 8 แห่ง ปราจีนบุรี 1 แห่ง และสุราษฎร์ธานี 10 แห่ง รวม 1,466 ห้อง โดย ASQ จะต้องผ่านมาตรฐาน 6 หมวด ได้แก่ หมวด 1 โครงสร้างอาคารวิศวกรรมความปลอดภัยและระบบสื่อสารสารสนเทศ หมวด 2 บุคลากร ซึ่งต้องได้รับการอบรมก่อนปฏิบัติงาน หมวด 3 วัสดุ อุปกรณ์สำนักงาน และอื่นๆ หมวด 4 ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หมวด 5 การจัดการสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับชุมชน และหมวด 6 โรงพยาบาลคู่สัญญาปฏิบัติการร่วมและความสะดวกสบายเพิ่มเติม ดาวน์โหลดรายละเอียดได้ที่ http://www.hsscovid.com/files/A%20State%20Quarantine%2017.4.63.pdf

สำหรับกรณีที่พบเชื้อบนพื้นผิวอุปกรณ์ฟิตเนส ใน ASQ แห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรปราการ เบื้องต้นคณะทำงานวิชาการได้ตรวจประเมินพบว่า มีหลายจุดที่ต้องทำการทบทวน เช่น การให้ออกจากห้องมาออกกำลังกาย การเข้าไปทำความสะอาดห้องพัก 2 วันต่อครั้ง การออกมาปะปนกันของผู้กักตัว เป็นต้น ทั้งนี้ ก่อนอนุญาตให้ดำเนินการ ASQ ได้มีการชี้แจงถึงมาตรฐานการอนุญาตให้ผู้กักตัวออกมานอกห้อง โดยต้องจัดระบบ จัดพื้นที่พักผ่อน จัดรอบการออกนอกห้องพัก การเว้นระยะห่าง มีการทำความสะอาดฟิตเนสเป็นรอบๆ ซึ่งระบบวางไว้ค่อนข้างดี แต่บางโรงแรมอาจไม่ได้ทำตามแนวทางที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงได้ไปซักซ้อมทำความเข้าใจให้มีความปลอดภัย แต่ผู้เดินทางยังได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัย แนวทางหนึ่งคือ การจัดกลุ่มผู้เข้ากักกันตามความเสี่ยงของประเทศต้นทาง โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ป่วยและระบบโครงสร้างพื้นฐานการควบคุมโรคของประเทศนั้น ซึ่งจะพิจารณาทุก 15 วัน และแบ่งเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ ปานกลาง และสูง ถ้าใช้เรื่องความเสี่ยงควบคู่กับการอนุญาตให้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวก มาตรการก็จะเข้มแข็งขึ้น เป็นการจัดการตามความเสี่ยงและยังคงความปลอดภัย

“การจัดการ ASQ ยังคงเป็นไปตามมาตรฐาน แต่บางส่วนอาจจะต้องปรับปรุง โดยจะตั้งคณะทำงานตรวจประเมินมาตรฐานเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น และทบทวนการอนุญาตให้ผู้กักตัวใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรม สำหรับกรณีที่จังหวัดสมุทรปราการ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรปราการได้ให้ ASQ หยุดรับคนเข้ากักกันเพิ่ม ให้ผู้พักเดิมอยู่แต่ภายในห้อง ไม่อนุญาตออกมาใช้พื้นที่ส่วนรวม และเมื่อคนในที่พักออกจากที่กักครบทั้งหมดแล้ว จะมีการเข้าไปดูแลทำความสะอาดและประเมินทุกอย่างอีกครั้ง” นพ.ธเรศกล่าว