“อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน”จุดกระแสรักการอ่าน ด้วยหนังสือที่คนเชียงรายภาคภูมิใจ

11

“ความท้าทายของโครงการ คือการหากลุ่มคนทำงานในพื้นที่ ที่มีใจรักในการส่งเสริมการอ่าน เพื่อให้เป็นโครงการของคนเชียงราย ทำเพื่อคนเชียงราย และเพื่อคนเชียงราย เพราะเชื่อว่าโครงการที่ดีนั้นต้องให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมขับเคลื่อน และรู้สึกภูมิใจในผลลัพธ์เกิดขึ้นจริง”

เมื่อปีที่ผ่านมาองค์การยูเนสโกประกาศให้เทศบาลนครเชียงราย เข้าร่วมเป็นสมาขิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของประเทศไทย ศักยภาพในการพัฒนาเมืองด้านการเรียนรู้ของเชียงรายนี้เอง ส่งผลให้สถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park ได้ริเริ่มโครงการ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน เชียงราย” ที่มีเทศบาลนครเชียงรายเป็นพื้นที่นำร่อง โดยใช้แนวคิด”อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน” ซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์การอ่านที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากจังหวัดเชียงใหม่ โครงการนี้มีบุคลากรจากองค์กรต่าง ๆ ในจังหวัดกว่า 50 คนจาก 25 องค์กร มาร่วมกันคิดค้นประเด็นเนื้อหาที่เด็กเชียงรายควรอ่าน เพื่อนำไปใช้ผลิตสื่อนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย ให้เป็นหนังสือของคนเชียงราย เพื่อคนเชียงราย อย่างแท้จริง

ขับเคลื่อนโดยคนเชียงราย เพื่อคนเชียงราย
วัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการเผยว่า การเลือกเมืองเป้าหมายในการดำเนินโครงการนั้นถือว่าสำคัญมาก ต้องมีการศึกษาข้อมูลหลายด้าน ทั้งสถิติการอ่าน จำนวนประชากร วัฒนธรรมท้องถิ่น ร่วมทั้งต้องได้รับความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาสังคมควบคู่ไปด้วยกัน เมื่อเชียงรายได้เป็นร่วมเป็นเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก หรือ The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC จึงนับได้ว่ามีความพร้อมและมีศักยภาพเต็มที่ในการดำเนินโครงการ

ความท้าทายของโครงการ คือการหากลุ่มคนทำงานในพื้นที่ ที่มีใจรักในการส่งเสริมการอ่าน เพื่อให้เป็นโครงการของคนเชียงราย ทำเพื่อคนเชียงราย และเพื่อคนเชียงราย เพราะเชื่อว่าโครงการที่ดีนั้นต้องให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมขับเคลื่อน และรู้สึกภูมิใจในผลลัพธ์เกิดขึ้นจริง ซึ่งนายวัฒนชัยเล่าว่า ในกระบวนการทำงานได้มีเครือข่ายเชียงใหม่อ่าน ภาคีภาคประชาสังคมด้านการส่งเสริมการอ่านจากเชียงใหม่ ได้นำประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาเข้ามาสนับสนุนการทำงานร่วมกับ TK Park และเทศบางนครเชียงรายอย่างเต็มที่ และสามารถรวบรวม“เครือข่ายการเรียนรู้เมืองเชียงราย” อันประกอบด้วยหน่วยงานท้องถิ่น ภาคประชาสังคม พลเมือง นักวิชาการ คนทำงานพัฒนาและกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่สนใจมาร่วมพัฒนาหนังสือของโครงการ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน” ร่วมกัน เป็นจำนวนกว่า 50 คนจาก 25 องค์กร ส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระโดยชาวเชียงราย รวมถึงภาพประกอบหนังสือก็เกิดจากฝีมือของศิลปินท้องถิ่นเชียงรายเช่นกัน

วัฒนชัย วินิจจะกูล

เริ่มต้นด้วยคำถามว่า เด็กๆ จะเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเชียงราย และคณะทำงานก็ระดมความคิดจนออกมาเป็นเนื้อหาหลัก ว่าด้วยเรื่องความหลากหลาย เพราะเชียงรายมีความหลากหลายทั้งในด้านกายภาพและผู้คน เมื่อเด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกับความหลากหลาย ด้วยความเข้าใจ สิ่งที่ตามมาคือความภูมิใจความสุข และ ความรักในท้องถิ่น ในเวลาเพียง 3 เดือนของการร่วมมือร่วมใจในครั้งนี้ ก่อให้เกิดหนังสือภาพ 2 เล่ม มาลีแอ่วดอย นิทานภาพสะท้อนความหลากหลาย และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ผ่านการละเล่น และเครื่องแต่งกายของพี่น้องชาติพันธุ์ และ ทรายน้ำกก ที่นำเสนอให้เห็นความหลากหลายทางกายภาพ สะท้อนผ่านเด็กคนหนึ่ง ผ่านทางประเพณีวัฒนธรรม และวัดอารามช่วงเทศกาลปี่ใหม่เมือง

นอกจากการส่งเสริมการอ่านในกลุ่มเด็กปฐมวัยแล้ว TK Park ยังจัดโครงการประกวดหนังสือเล่มเล็กในหัวข้อ “เล่าเรื่องเมืองเจียงฮาย” ที่สนับสนุนให้เยาวชนเชียงรายได้มีโอกาสเป็นผู้สร้างสรรค์หนังสือ ฝึกทักษะความคิดสร้างสรรค์ การเล่าเรื่อง กระบวนการเรียนรู้ และภูมิใจกับเรื่องราวถิ่นกำเนิด โดยมีโรงเรียนร่วมส่งผลงานเข้าประกวดถึง 41 เล่ม หนังสือนิทานเล่าเรื่องเมืองเจียงฮาย เล่มที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ชื่อว่า “เตียวล่องกองมองเวียงเจียงฮาย” ซึ่งเป็นนิทานภาพทำมือจากนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 8 บ้านใหม่ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเมืองเชียงรายผ่านสายตาของนักท่องเที่ยวได้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่ผู้คนท้องถิ่น สถานที่ ประเพณี ประวัติศาสตร์ แถมยังนำเสนอผ่านการใช้เทคนิคภาพป๊อปอัพ 3 มิติได้อย่างน่าสนใจมาก

ส่งให้หนังสือถึงมือเยาวชน บนความร่วมมือของหน่วยงานท้องถิ่น
นายวัฒนชัยกล่าวว่าโครงการนี้มุ่งเน้นที่กลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มเด็กปฐมวัย นั่นคือครอบคลุมตั้งแต่วัยอนุบาลไปจนถึงประถมต้น ซึ่งในเทศบาลเมืองเชียงรายมีจำนวนรวมถึงกว่า 4,000 คน เพราะเชื่อว่าการปลูกฝังการอ่านในเด็กวัยนี้ เป็นการลงทุนที่ก่อเกิดผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ดีที่สุด ซึ่งในส่วนนี้ได้รับความช่วยเหลือจากเทศบาลนครเมืองเชียงราย ในการรวบรวมเครือข่ายท้องถิ่นในกระจายหนังสือไปยังพื้นที่เป้าหมายทั้ง โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
เมื่อหนังสือภาพทั้งสองเล่มจัดพิมพ์เรียบร้อย ตามด้วยการจัดการอบรมแก่ครูในท้องถิ่นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้หนังสือเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ตามแนวทางที่ถนัดของผู้สอนแต่ละคนและสร้างผลสัมฤทธิ์สูงสุดแก่เด็ก รวมทั้งวางแผนในการกระจายหนังสือ สู่โรงเรียนในพื้นที่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการกระจายสู่โรงเรียน หนังสือบางส่วนจะถูกแจกจ่ายไปยังแหล่งชุมชน รวมทั้งการกระจายในรูปแบบอีบุ๊คให้ทุกคนอ่านฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยหวังที่จะเข้าถึงกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง และประชาชนทั่ว เพื่อให้รับรู้ว่ามีหนังสือที่เกิดจากการริเริ่มโดยคนเชียงราย ที่ถ่ายทอดเรื่องราวภูมิปัญญาล้านนาในแบบของเชียงราย ที่สามารถสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนท้องถิ่น มีความรู้สึกร่วมในการสร้างสรรค์เมืองแห่งการเรียนรู้ จนท้ายที่สุดก็เกิดเป็นการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันจริงๆตามที่วัตถุประสงค์ที่วางไว้

แม้ว่าโครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงรายจะเกิดขึ้นในกรอบระยะเวลาที่จำกัด แต่ก็สามารถเป็นแรงกระตุ้นให้คนหันมาให้ความสำคัญกับการอ่าน และการพัฒนาเยาวชน รวมถึงเป็นแบบอย่างของโครงการที่เกิดจากความร่วมจากภาครัฐและประชาสังคม จนเกิดเป็นผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรม อันนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชิวิต ตามวิสัยทัศน์ของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park