สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยป่วยเป็นโรคสโตรคมากถึงปีละ 300,000 ราย คิดเป็นค่าใช้จ่ายปีละไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านบาทต่อคน แนะหากพบอาการ “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น” รีบโทรสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
รู้หรือไม่ว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลกมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เพราะโรคหลอดเลือดสมองเป็นสิ่งใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ทำให้องค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก หรือ(World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) เพื่อเป็นการตอกย้ำให้ตระหนักถึงความสำคัญและรู้เท่าทันอาการของโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรค
สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ และสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย จัดงานเสวนา “สถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย” พร้อมเดินหน้ารณรงค์โครงการ “Stroke รู้เร็ว รอด” โทรสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันและรักษาได้ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการสํารวจประชากรขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก พบว่า ในปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึง 14.5 ล้านคนต่อปี โดย 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และร้อยละ 60 จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
สําหรับประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้สูงอายุ จากรายงานข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงานกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จํานวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2556 – 2560 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2560 พบผู้ป่วยเกิดใหม่จำนวน 304,807 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย โดยค่าใช้จ่ายที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หากเป็นการรักษาในระยะสั้น คือได้รับการรักษาทันที ก็จะเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก แต่หากเป็นการรักษาระยะยาวที่ต้องได้รับการดูแลตลอดชีวิต จะมีค่าใช้จ่ายราวปีละ 2-3 ล้านบาทต่อคน ซึ่งส่งผลโดยตรงให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งส่วนตัว ครอบครัว และประเทศชาติโดยรวม
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสําคัญที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ อายุ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะสังคมสูงวัย ยิ่งส่งผลให้แนวโน้มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หัวใจสําคัญของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองคือ “เวลา” ดังนั้น หากผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดสามารถจำหลักการง่ายๆ คือ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น”
“พูดลำบาก” หมายถึง การพูดที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก หรือพูดไม่รู้เรื่อง
“ปากตก” หมายถึง มุมปากข้างใดข้างหนึ่งตกลง ยิ้มยิงฟันแล้วปากเบี้ยว มุมปากสองข้างไม่เท่ากัน
“ยกไม่ขึ้น” หมายถึง แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ยกไม่ขึ้น
โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ดังนั้น หากผู้ป่วยหรือคนรอบข้างสามารถสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ให้โทรไปที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ยิ่งแจ้งเร็วเท่าไร ก็จะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ ตามโครงการรณรงค์ “Stroke รู้ เร็ว รอด” ซึ่งหมายถึง รู้จักอาการและรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะมีโอกาสรอดพ้นจากความพิการและเสียชีวิต
สําหรับแนวทางป้องกันโรคหลอดเลือดสมองสามารถทําได้เอง ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม หวานจัด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ควบคุมมระดับความดันโลหิต ระดับไขมัน และระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดเหล้า บุหรี่ หมั่นตรวจสุขภาพประจําปี สําหรับผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคําแนะนําของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่โครงการรณรงค์ “Stroke รู้ เร็ว รอด” ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างยังได้ร่วมกับโรงพยาบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประกวดโครงการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือด ผ่านทางโซเซียล มีเดีย พร้อมติด hashtag #พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น โดยภายในงานเสวนาได้จัดให้มีการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานจากมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลศรีสะเกษ และโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวมาสคอต“นายด่วนจี๋ หรือ Mr. Fast Man” เพื่อเป็นสื่อกลาง ในการสร้างความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตราย รวมถึงรู้จักดูแลตัวเอง และเฝ้าระวังอาการโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างถูกต้องอีกด้วย ทั้งนี้สามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองได้ที่ เว็บไซต์ www.neurothai.org หรือ www.facebook.com/neurothai.thailand