อากาศที่แปรปรวนในช่วงนี้ ทำให้สภาพร่างกายของเราปรับตัวไม่ทัน และแสดงออกมาเป็นอาการต่างๆ ทั้งการเป็นไข้ หรือปวดศรีษะ รวมทั้ง อาการไอ ซึ่งหลายคนประสบอยู่ในตอนนี้ บางคนถึงขนาดที่ไอจนนอนไม่หลับ ไอจนปวดหัว หรือไอจนคอแห้งผาก มาดูกันว่า จริงๆ แล้วการไอ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง การไอแบบต่างๆเป็นอย่างไร
ข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การไอ เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย หลายคนคิดว่าการไอคือความผิดปกติของทางเดินหายใจ แต่ในอีกมุมหนึ่งการไอก็คือ ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน เกสรดอกไม้ อากาศที่แห้ง การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของอุณหภูมิ มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ สูดแก๊สที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้มักทำให้เกิด การไอแบบเฉียบพลัน (มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์)
แต่ถ้าเกิดการไอเรื้อรัง (มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์) บ่งบอกว่าอาจมีพยาธิสภาพบางอย่างในทางเดินหายใจ เช่น โรควัณโรคปอด โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สายเสียงอักเสบเรื้อรัง หรืออาจมีพยาธิสภาพที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ปอดอักเสบ มีเนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ หรือ อาจเป็นผลจากการรับประทานยาบางชนิดเช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI (angiotensin-converting-enzyme inhibitor)
การไอแบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ คือ ไอแบบมีเสมหะ และ ไอแบบไม่มีเสมหะ ซึ่งปัจจัยทั้งสองนี้ เป็นข้อบ่งชี้ในการเลือกชนิดยาในการบรรเทาและรักษาอย่างถูกต้อง เมื่อเข้าพบเภสัชกรหรือพบแพทย์
ลักษณะของการไอที่ต้องพบแพทย์อย่างด่วน ได้แก่ อาการไอเรื้อรังนานกว่า 2-3 สัปดาห์ ไอมีเสมหะเหลืองปนเขียว หรือมีเลือดปน มีอาการเป็นไข้ตัวร้อนนานกว่า 1-2 สัปดาห์ เจ็บคอมาก ปวดศรีษะ อ่อนเพลียเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง หรือรู้สึกหอบเหนื่อยเจ็บหน้าอกเมื่อมีอาการไอ
ข้อแนะนำสำหรับการบรรเทาการไอเบื้องต้น คือการงดดื่มน้ำเย็น และรับประทานน้ำอุ่น ดื่มน้ำอุ่นผสมมะนาวและเกลือเล็กน้อย รักษาอุณหภูมิร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เมื่อไอควรปิดปากด้วยผ้าสะอาดและและไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
ลักษณะการไอแต่ละแบบ
- อาการไอแบบแห้งๆ และมีอาการคันคอ มักจะเกิดจากสิ่งแปลกปลอม อย่างไรฝุ่นหรือเชื้อไวรัส ซึ่งจะไอมากในตอนกลางคืน ไอแบบนี้จะรู้สึกเหมือนมีอะไรข้นๆ เหนียวๆ ในลำคอ ร่วมกับอาการคันตา จามเป็นระยะ อาจจะมาจากสาเหตุของโรคภูมิแพ้
- ไอแบบแห้ง ๆ ติดต่อกันเป็นจังหวะรัวๆ เร็วๆ พร้อมกับอาการหายใจไม่ค่อยสะดวก สามารถบ่งบอกได้ว่ากำลังมีสัญญาณของโรคหอบหืด
- อาการไอรุนแรงเป็นพัก ๆ โดยเฉพาะช่วงเวลารับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ หรืออาจไอทุกครั้งที่นอน ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณบอกว่ากำลังเป็นโรคกรดไหลย้อน หรืออาการไอที่มีสาเหตุจากกรดในกระเพาะอาหาร
- กลุ่มไอเรื้อรังแบบไม่หายสักที ไอเรื้อรังและมีเสมหะปนมาด้วย จะเกิดขึ้นถี่ในตอนเช้า อาจรู้สึกแน่นหน้าอกขณะไอ หรือหายใจติดขัด อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมีความเสี่ยงของโรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอักเสบ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมสูบบุหรี่
การไอ เป็นเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนมักมองข้าม แต่หากปล่อยไว้หรือมีอาการอื่นร่วม ก็อาจจะนำไปสู่อันตรายได้ อีกทั้งอาการไอยังสร้างผลกระทบในชีวิตประจำวัน ทั้งการเสียบุคลิก สร้างความรำคาญใจ และอาการนอนไม่หลับ ดังนั้น เมื่อไอแล้วควรปฎิบัติตามคำแนะนำ ปรึกษาเภสัชกร และถ้ามีอาการที่น่าสงสัยร่วมด้วยก็ควรไปพบแพทย์ จะเป็นการดีที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th
www.honestdocs.com