หมออารมณ์ดี ชัยวัฒน์ วชิรศักด์ศิริ รักษาลึกลงถึง “ใจ” กับบทนักสู้ หยุดโรคเบาหวาน-โรคอ้วน ภัยคุกคามของคนไทย

590
นพ.ชัยวัฒน์ วชิรศักด์ศิริ

บทสนทนาระหว่าง The Balance และ นพ.ชัยวัฒน์ วชิรศักด์ศิริ อาจารย์ประจำสาขาการบริบาลผู้ป่วยนอก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ไม่เคร่งเครียดอย่างที่เราคิดไว้ ในทางตรงกันข้าม มันเต็มไปด้วยสาระและความรู้ ที่คุณหมอถ่ายทอดออกมาด้วยความสนุกผ่านภาษาง่ายๆ

และสิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเราจับต้องได้คือ นอกเหนือบทบาทที่เป็นอาจารย์หมอของนักศึกษาและเป็นคุณหมอรักษาคนไข้แล้ว นพ. ชัยวัฒน์ ยังสวมบทบาทเป็นที่ปรึกษา เป็นเพื่อน เป็นผู้รับฟัง เป็นโค้ช หรือเป็นนักจิตวิทยาให้กับคนไข้ในบางครั้ง

“ทำไมต้องมีบทบาทมากกว่าความเป็นหมอ” พวกเราอดไม่ได้ที่จะถาม และคำตอบที่ได้คือ “ผมคิดว่า ถ้าใจป่วย กายก็จะป่วย แล้วเรื่องใจ ง่ายกว่าการรักษาด้วยยาอีก แค่เราฟังเขา เราเป็นพวกเดียวกับเขา เขาก็สบายใจ มันง่ายกว่าการเขียนใบสั่งยาหรือกินยา”

แม้จะสวมบทบาทหลากหลายภายใต้เสื้อกาวน์ แต่ยังมีอีกภารกิจหนึ่งที่คุณหมอตั้งใจทำอย่างสุดหัวใจคือ หยุดโรคหวานและโรคอ้วน เหตุที่ทุ่มเทมากก็เพราะโรคนี้เป็นภัยคุกคามใกล้ตัวของคนไทย และพบว่า คนเป็นโรคเบาหวานอายุน้อยลงมากขึ้นทุกวัน หากไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร ประเทศเราก็จะต้องสูญเสียเม็ดเงินจำนวนมากมารักษาคนกลุ่มนี้ และการตั้งรับกับโรคนี้ ไม่น่าจะเป็นหนทางที่ดีนัก ดังนั้น จึงต้องออกมารณรงค์หาทางป้องกัน ไม่ว่าจะผ่านในแนวทางของแพทย์หรือผ่านทางนโยบายระดับประเทศ

โรคเบาหวาน-โรคอ้วน ภัยอันตรายใกล้ตัว
นพ.ชัยวัฒน์ บอกพวกเราว่า สถิติเมื่อปี 2557 (ซึ่งเป็นสถิติล่าสุดที่ประเทศได้จัดทำ) ระบุว่า คนเป็นโรคเบาหวานอยู่ที่ร้อยละ 8.9 จากประชากรทั้งหมดของประเทศ เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 ซึ่งขณะนั้นมีไทยประชากรราว 66 ล้านคน และคุณหมอคาดว่า แนวโน้มจำนวนคนป่วยเป็นโรคเบาหวานและคนกลุ่มเสี่ยงน่าจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอายุยังไม่มาก เนื่องจาก วิถีบริโภคของคนไทยที่เปลี่ยนไป

คุณหมอเล่าให้ฟังว่า การบริโภคของคนไทยดำเนินตามแบบแนวทางตะวันตกมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับข่าวสารทางการตลาดที่เย้ายวนของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการบริโภค หรือการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ที่ได้เข้ามีอิทธิพลถึงการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะคลิปวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำเมนูอาหาร ร้านอาหาร หรือการบริโภคตามแฟชั่นนิยม อย่างทานร้านโน้น เข้าร้านนี้ ทีละหลายๆร้าน รับประทานแบบสะใจ กินให้พุงแตก คุณหมอให้ความเห็นว่า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ของการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เพราะทำแล้วสนุก มีคนยอมรับ ทำให้มีคนอยากทำตาม

แต่ความอร่อยและความสนุกนั้นก็ตามมาด้วยกับภัยอันตรายเช่นเดียวกัน คุณหมออธิบายว่า อย่างเช่นการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ ก็มีการโปรโมททานกับเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลอยู่ และจริงอยู่ที่ การทานไก่ทอดหรือเบอร์เกอร์ต่างๆไม่มีความหวานของน้ำตาล แต่ก็จะก่อเกิดโรคอ้วนตามมา และการเป็นโรคอ้วนนั้น จะทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ความเสี่ยงที่เป็นโรคเบาหวานก็มีมากเช่นกัน โดยหน้าที่ของอินซูลินคือ ลดน้ำตาลในเลือด นี่คือ ความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนกับโรคเบาหวาน ภัยอันตรายที่หลายคนไม่ค่อยฉุกคิด

“โรคอ้วนยังเป็นประตูสู่อีกหลายๆโรค ไม่ว่าจะเป็นความดัน ไขมัน โรคเก๊าท์ โรคปวดข้อ หรือมะเร็งบางอย่าง ก็มาจากความอ้วน” คุณหมอ บอกเพิ่ม

จากประสบการณ์รักษาคนไข้ของคุณหมอ พบว่า ปัจจุบันคนเป็นโรคเบาหวานมีอายุน้อยลงคือ เป็นเบาหวานในเด็ก ในสมัยก่อนนั้น เรามักจะพบได้มากในผู้ใหญ่อายุ 35-40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันได้พบคนเป็นโรคนี้ในช่วงวัยรุ่นอายุ 20 กว่าๆ สาเหตุก็เริ่มจากการเป็นโรคอ้วนก่อน โดยคนกลุ่มเสี่ยงนี้มารักษาด้วยโรคอื่นเช่น ถุงน้ำรังไข่ ประจำเดือนไม่ปกติ มาหาหมอสูติเวช จากนั้นก็ถูกส่งให้คุณหมอวินิจฉัย ซึ่งคุณหมอก็ได้ทำการเจาะเลือด แล้วพบว่า เป็นโรคเบาหวาน

วิถีชีวิตเป็นอย่างไรหรือ ที่จะทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ ทั้งๆที่มีอายุยังน้อยและมีการเผาผลาญพลังงานที่ดี? พวกเราถามต่อ และคุณหมออธิบายเพิ่มว่า ชอบดื่มน้ำอัดลมทุกวัน ดื่มแทนน้ำ ไม่ดื่มน้ำเปล่า ชอบอาหารแคลอรี่สูงอย่าง ไอศกรีม ขนมเค้ก ชานมไข่มุก บางคนที่คุณหมอพบคือ มีน้ำหนัก 102 กก. อายุเพียง 25 ปี บางคนมีน้ำหนัก 88 กก. อายุแค่ 20 กว่าๆ

แก้ปัญหาอย่างไรดี
การแก้ปัญหามีได้หลายแนวทาง อย่างไรก็ตาม ครอบครัวมีบทบาทสำคัญมากที่จะช่วยคลี่คลายปัญหานี้ได้ หากพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับเด็กรุ่นหลัง คุณหมอพบว่า คนเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนจำนวนไม่น้อย เกิดจากการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหลายๆคน และมีพฤติกรรมการรับประทานคล้ายๆกัน

แพทย์เองทำหน้าที่ไม่เพียงรักษา แต่ยังต้องหาแนวทางป้องกันด้วย ปัจจุบันนี้ นพ.ชัยวัฒน์และทีมแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชก็พยายามหามาตรการต่างๆช่วยป้องกัน ตัวอย่างเช่น มีการจัดค่าย ณ โรงพยาบาลศิริราช นำคนไข้กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะเป็นโรคเบาหวาน อย่างเช่น คนอ้วน คนน้ำตาลเพิ่มขึ้น ความดันเพิ่มขึ้น เข้าคอร์สอบรม มีการแชร์ข้อมูลต่างๆระหว่างกัน มีการสร้างกลุ่มไลน์ไว้สำหรับการสื่อสาร รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆทำร่วมกันเช่น การแข่งกันเดิน แข่งกันวิ่ง โชว์อาหารที่กิน เพื่อให้พฤติกรรมการบริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันจัดมาเป็นปีที่ 8 แล้ว ปีหนึ่งสามารถรับได้ 60-100 คน แต่ปีนี้เนื่องจากมีโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้จัดกลุ่มใหญ่ไม่ได้ ทำได้แค่ 10 คนต่อกลุ่ม ดังนั้น ปีนี้จึงได้แค่ 60 คนเท่านั้น โดยการอบรมนั้น นำคนกลุ่มเสี่ยงนั้นเข้ามาที่ศูนย์เบาหวานศิริราช ภายในศูนย์มีห้องแสดงอาหาร มีทีมนักโภชนาการ นักออกกำลังกาย มาให้ความรู้ ตอบคำถาม แล้วทำ workshop ร่วมกัน รวมไปถึงมีการทำคลิปวิดีโอเป็นภาพการ์ตูนบ้าง คุณหมอพูดบ้างลงยูทูปให้เขาดูเองที่บ้าน ไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย

นโยบายระดับประเทศก็สามารถช่วยแก้ปัญหาโรคเบาหวานได้ นพ.ชัยวัฒน์ บอกว่า อย่างที่ผ่านมาเช่น การเก็บภาษีน้ำตาลเพิ่มในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ หรืออย่างการยกเลิกใช้ไขมันทรานส์ ก็เป็นเรื่องดีไม่น้อย แต่สิ่งที่คุณหมออยากเห็น 2 ข้อเกิดขึ้นในสังคมไทยคือ อยากให้ healthy food มีราคาถูกลงและหาง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเข้าไม่ถึงได้ในชีวิตประจำวัน พวกเราสามารถดูแลตัวเองด้วยเมนู Healthy food ง่ายๆคือ ทานอาหารสูตร 2-1-1 โดยอาหารหนึ่งจานของเราแบ่งเป็น 4 ส่วน ผัก 2 ส่วน แป้ง 1 ส่วน เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 1 ส่วน ซึ่งคนทั่วไปสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ทานข้าวแกง ก็เอาข้าว 1 ใน 4 ของจาน ที่เหลือก็เป็นเมนูผัดผัก เนื้อสัตว์ก็เป็นไข่ดาว 1 ฟอง เพียงแค่นี้ก็ทำให้ชีวิตห่างไกลจากการเป็นโรคนี้ได้

สองคือ กิจกรรมทางร่างกาย อย่างประเทศอังกฤษ มีเลนรถจักรยาน บ้านเรายังไม่มีการโปรโมทมากนัก ยังขับรถส่วนตัวกันมาก หรืออย่างที่ประเทศสกอตแลนด์กำหนดให้พื้นที่จอดรถใหญ่หายไป และมีพื้นที่จอดรถจักรยานแทนที่ ทำให้พวกเขาพลเมืองปั่นจักรยานมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยควรสนับสนุนแนวแนวทางแบบนี้ เพื่อสร้าง “healthy lifestyle” ให้กับคนไทย

“ภาครัฐกับภาคเอกชนควรเดินไปด้วยกัน เชิงนโยบาย รัฐควรออกกรอบออกให้เอกชนทำตาม ต้องมีภาคบังคับส่วนหนึ่ง add on ส่วนหนึ่ง เดินไปด้วยกัน จะเกิดความสำเร็จและยั่งยืนมากกว่า”

มีความสุขได้ช่วยคน
นพ.ชัยวัฒน์ ปัจจุบันอายุ 39 ปี สมัยที่เรียนระดับมัธยมศึกษา เป็นเด็กเรียนดี วิชาที่เรียนเก่งคือ ชีววิทยา ไม่เคยมีความฝันว่าจะเป็นแพทย์ช่วยรักษาคน แต่เพราะค่านิยมในยุคนั้น เด็กๆได้รับการปลูกฝังว่า เด็กเรียนเก่งทางด้านชีววิทยาต้องเรียนต่อสาขาแพทย์ และเขาจึงเองเดินตามเส้นทางนั้น

เมื่อสอบเข้าเรียนได้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาแพทย์น้องใหม่ก็ไม่ผิดหวังที่เข้ามาเรียนสถาบันแห่งนี้ เขาค่อยๆปรับตัวในการเรียนรู้และซึมซับศาสตร์นี้ทีละเล็กทีละน้อย จนเป็นบัณฑิตในอีก 6 ปีต่อมา จากนั้น ก็ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ใช้ทุนเพียงแค่ 6 เดือน ก็ต้องหยุดกลางคัน เพราะอาจารย์ที่คณะเดิมโทรมาบอกว่ามีตำแหน่งอาจารย์ว่าง จะมาทำไหม และบังเอิญว่า บิดาของเขาป่วย เขากระวนกระวายใจด้วยความเป็นห่วง จนชีวิตปั่นป่วน ดังนั้น เขาเลยตัดสินใจกลับกรุงเทพฯรับงานตำแหน่งใหม่และเพื่ออยู่ใกล้ครอบครัว อย่างไรก็ตาม การใช้ทุนไม่ครบ 3 ปี ทำให้ต้องจ่ายค่าใช้ทุนคืนให้กับหลวง

นพ. ชัยวัฒน์ บอกว่า การเลิกใช้ทุนกลางคันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ไม่อยากให้ใครทำตาม เพราะว่าโรงพยาบาลในต่างจังหวัดรอหมอมานาน อยากได้หมอไปช่วยรักษาคนไข้ จากนั้นก็ลาไปศึกษาเพิ่มเติม บินไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ และทำวิจัยที่นั่นอีกหนึ่งปี หัวข้อวิจัยที่ได้ทำก็เกี่ยวข้องกับไฟเบอร์ อาหารไฟเบอร์ กากใยอาหารกับความอ้วน

แม้ใช้ชีวิตสั้นๆอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ แต่คุณหมอบอกว่า ชีวิตที่นั่นสนุกมาก ได้สัมผัสกับชีวิตชนบท มีชีวิตเรียบง่าย ไม่วุ่นวาย อยากทำอะไรก็ได้ทำ และได้ช่วยคนไข้อย่างเต็มที่ บางครั้งตามชาวบ้านไปจับปลา จับแย้ หรือเก็บเห็ด โดยอย่างหลังนี้ อยากเรียนรู้ว่าอาการเจ็บหลังจากการเก็บเห็ดของคนไข้เป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังได้เป็นดีเจจัดรายการวิทยุ เปิดเพลงพร้อมกับบอกเล่าเนื้อหาสาระทางการแพทย์ให้กับผู้ฟัง โดยครั้งแรก เป็นแพทย์รับเชิญชวนพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นทางการแพทย์ในรายการวิทยุของคลื่นชุมชนในอำเภอ แต่ต่อมาทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลเห็นว่ามีประโยชน์ จึงติดตั้งอุปกรณ์กระจายเสียงให้คุณหมอได้จัดรายการที่โรงพยาบาล

ปัจจุบัน นพ.ชัยวัฒน์ มี 3 ภารกิจที่รับผิดชอบคือ สอนหนังสือ ดูแลคนไข้ และทำการวิจัย แบ่งเป็นงานสอน 2 วัน งานตรวจคนไข้ 2 วัน ขณะที่เหลืออีก 1 วัน ทำงานวิจัยและเตรียมการสอน โดยคุณหมอจะสอนวิชาด้านการบริหารผู้ป่วยนอกให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4-6

“สนุกนะครับ ไม่ได้เป็นหมออย่างเดียว เป็นอาจารย์ด้วย ผมชอบสอนอยู่แล้ว มีความสุขกับการทำงาน ได้ดูคนไข้ ได้สอนนักศึกษา สนุกดี แม้งานจะยุ่ง แต่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ”

นพ.ชัยวัฒน์ เป็นคนทุ่มเทรักษาคนไข้ด้วย “หัวใจ” ใส่ใจในทุกรายละเอียด ตอนจบเป็นแพทย์ใหม่ๆ ยังไม่ได้เป็นอาจารย์ บ่อยครั้งไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน เพราะต้องการรู้สภาพความเป็นอยู่ของคนไข้จริงๆ เพื่อประโยชน์กับการออกแบบการรักษา แม้ขณะนี้ ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอน ก็ยังสนับสนุนให้แพทย์ประจำบ้านที่มาเรียนต่อเฉพาะทางให้ออกไปเจอคนไข้ตามบ้าน เพื่อให้ได้ “mindset” เรื่อง “การป้องกัน” โดยคุณหมอบอกว่า การเจอคนไข้ที่โรงพยาบาล อาจไม่ใช่ตัวจริงของเขา การจะพบตัวตนของเขา ต้องไปหาเขาที่บ้าน ดูว่าเขาเป็นอยู่อย่างไร โดยนำข้อมูลเหล่านี้มาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกับอาจารย์หมอ เพื่อพูดคุยหาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับคนไข้

“บางอย่างเราคิดไม่ถึง ปกติ เราจะจัดการรักษาที่ดีที่สุดให้กับคนไข้ แต่บางที มันไม่ได้เหมาะที่สุดกับพวกเขา การไปดูคนไข้ เราจะได้รู้อะไรเป็นสิ่งที่ “เหมาะ” เช่น การฉีดยา เรามองว่า ดีที่สุดละ แต่บ้านเขาไม่มีที่เก็บยา คุณตาอยู่บ้านไม่มีลูก ตามองไม่เห็น เขาก็ไม่ได้ฉีดยา เราต้องอะไรมากกว่าการรักษา” นพ.ชัยวัฒน์ บอกเพิ่ม

อีกตัวอย่างที่ นพ. ชัยวัฒน์ ได้ประสบเจอครั้งหนึ่งเมื่อไปเยี่ยมคนไข้โรคเบาหวานที่บ้าน เขาพบว่า คนไข้ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ ก็ถามว่า ทานยาหรือเปล่า คนไข้ก็ตอบว่า ทาน แต่คุณหมอสังเกตเห็น ยาวางเรียงเต็มอยู่หัวเตียง และสิ่งที่คุณหมอได้ค้นพบอีกอย่างคือ ความเชื่อที่ผิดๆที่บอกต่อกันมา คนไข้เชื่อคนข้างบ้านมากกว่าหมอ คนไข้มีความกลัวแตกต่างกันไป อย่างเช่น กินยาแล้วไตวาย หรือบางคนไม่อยากฉีดยาอินซูลิน เพราะเข้าใจว่าเป็นระยะสุดท้ายของโรคแล้ว ทำให้คุณหมอก็ต้องให้ข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องกับคนไข้ เพื่อเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ขณะปฏิบัติหน้าที่ คุณหมอก็พยายามสื่อสารให้คนไข้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ โดยเปลี่ยนองค์ความรู้จากภาษาทางการแพทย์ให้คนทั่วไปได้เข้าใจ นอกจากนี้ ยังตระหนักว่า การจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเราได้ มันต้องแชร์ประสบการณ์อะไรบางอย่าง ไม่ใช่บอกด้วยตัวหนังสือหรือคำพูดเพียงอย่างเดียว มันต้องให้เห็นภาพ มันถึงจะได้ผล เช่น คนสูบบุหรี่ ที่ไม่คิดจะเลิกสูบบุหรี่ทั้งชีวิต ต้องพาไปเห็นคนไข้ใกล้ตายจากการสูบบุหรี่

นอกจากนี้ ยังทำหน้าเป็น “โค้ช” เป็นเพื่อน เป็นคนแนะนำ เป็นนักจิตวิทยาให้กับคนไข้ จุดประสงค์คือ ต้องการดูพฤติกรรมของพวกเขา ไม่ใช่รักษาโรคอย่างเดียว โดยใช้เวลากับเขาให้เยอะขึ้น มองลงไปให้ “ลึก” กว่าการเจ็บป่วยที่เขาเป็น พฤติกรรมของเขาเกิดขึ้นเพราะอะไร แม้จะใช้เวลานานไปสักหน่อย แต่ก็ได้ผลคุ้มค่า

ขณะที่อนาคต คุณหมอก็จะทุ่มเทชีวิตให้กับการหาหนทางป้องกันโรคเบาหวานและโรคอ้วนต่อไป รวมถึงช่วยโปรโมท “healthy lifestyle” กับคนในสังคม หวังจะผลักดันให้เป็นนโยบายสุขภาพที่ชัดเจนมากขึ้น หากไม่หยุดโรคร้ายนี้ รัฐบาลจะต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากในการดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนที่มาจากโรคนี้

แม้จะไม่ร่ำรวย แต่ปัจจุบันคุณหมอใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งกายและใจ เพราะได้ช่วยเหลือคนอื่น หลักการดำเนินชีวิตของคุณหมอคือ “เหมือนที่ ‘พระบิดา’ เคยกล่าวไว้ เป็นหมอที่ดี เราจะไม่ร่ำรวย เราจะไม่ยากจน เราแค่อยู่ได้ในวิถีที่เราควรจะอยู่ นิยามความรวยของผมคือ มีเงินใช้อย่างไม่ขัดสน ไม่ต้องไปยืมใคร ไปลำบากใคร อยากได้ในสิ่งที่พึงได้ ไม่ต้องมีเงินล้นฟ้า เราดูแลครอบครัวเราได้ คนรักเราได้ ว่าน่าจะพอแล้ว”

ด้วยความสุขที่มีอยู่เต็มเปี่ยม เข้าใจวัฎจักรของชีวิต จนทำให้คุณหมออยากจะแบ่งปัน “หลักคิดแห่งความสุข” กับคนรอบข้าง โดยคุณหมอบอกเสมอๆกับคนไข้ว่า “เราชอบตั้งเงื่อนไขบางอย่างกับความสุขของตัวเอง ทำให้เรามีความสุขยาก เช่น ต้องรอลูกรับปริญญานะ ฉันจะมีความสุขในวันที่ลูกรับปริญญา ต้องรอเมื่อไรละ เรียน 6 ปี 4 ปี ต้องรอเลยหรือ ทำไมเราไม่มีความสุขวันที่เราลืมตาขึ้นมาละ เราเลือกได้ เราไปดูคนที่ใกล้จะตาย คนที่เป็นมะเร็ง เอาวันหนึ่ง ความสุขเขาแค่วันหนึ่งๆ ลืมตาและมีลมหายใจ ก็มีความสุขแล้ว แล้วทำไมทุกอย่างแข็งแรงดี มะเร็งก็ไม่ได้เป็น ถึงมีความสุขยากกว่าคนที่เปลี่ยนมะเร็งละ เรามีความสุขได้ดีกว่านั้น หมอจะบอกคนไข้ว่า มีความสุขเถอะ อย่ามีความทุกข์เลย”