ใช้เครื่องจักรต่อทุนหนุน SME กรอ.-มก.จับมือ 5 แบงค์แปลงสินทรัพย์เป็นทุน

34

เปิดแคมเปญช่วยผู้ประกอบการ หลังต้องเผชิญหน้าวิกฤติโควิด -19 กรอ.-มก.จับมือ 5 สถาบันการเงินเดินหน้าใช้เครื่องจักรเป็นหลักประกันกู้เงินสร้างสภาพคล่อง ทั้งช่วยฟื้นฟู พัฒนา เติมเต็มศักยภาพ SME พร้อมแก้ปัญลดปัญหาปลดคนงานเพื่อลดต้นทุน

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 5 สถาบันการเงิน ร่วมสร้างแคมเปญช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เสริมสภาพคล่อง พร้อมเดินหน้า ฟื้นฟู พัฒนาธุรกิจ โดยมีการนำแนวคิด “แปลงสินทรัพย์เป็นทุน” ที่เคยมีมาแล้วก่อนหน้านี้ กลับมาศึกษา และต่อยอดสู่ โครงการ “เร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563”

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุถึงที่มาและการดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าวว่า “โครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563” เกิดจากแนวคิดที่มีมาแล้วก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน มีเป้าหมายในการแปลงเครื่องจักรในโรงงานให้เป็นทุนทางการเงิน เพื่อให้สามารถสร้างสภาพคล่อง และต่อยอดธุรกิจให้กับ SME ต่อไปได้ พร้อมให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างรวดเร็วและ มีดอกเบี้ยต่ำ โดยมีเครื่องจักรเป็นหลักประกัน ผ่านความร่วมมือกับทางศูนย์วิจัยและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี วิเคราะห์เครื่องจักร พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึก เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นรูปธรรม ต่อยอดสู่การใช้ทั้งเครื่องจักร และเงินทุนนำไปสร้างธุรกิจ และสนับสนุนให้เกิดการสร้างผลประกอบการต่อไป

ด้าน ดร.ธิรินทร์ ณ ถลาง ผู้จัดการโครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563 กล่าวว่า “จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด -19 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการและโรงงาน ในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะปัญหาด้านการขาดสภาพคล่อง และเรื่องของทุนในการดำเนินกิจการ จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน กรอ.และ ม.เกษตรฯ จึงมีแนวทางร่วมกันในการช่วยเหลือโรงงานระดับ SME ให้มีผลประกอบการให้ที่ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น ผ่านการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร และมีปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และนำเครื่องจักรมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน

โดยมีเป้าหมายของโครงการในครั้งนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ได้อย่างทั่วถึงและมีศักยภาพ จึงมีการกำหนดคุณสมบัตินั้นออกแบบมาสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่บุคคลหรือนิติบุคคล และมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือสถานประกอบการ หรือกิจการซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คนหรือรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี รวมไปถึงมีความต้องการปรับปรุงเครื่องจักรเดิมให้มีประสิธิภาพมากขึ้นหรือต้องการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิมเพื่อสร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุนตามตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์

สำหรับการดำเนินการขอยื่นเสนอต่อสถาบันเพื่อขอกู้เงินทุน รวมถึงการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร กลุ่มผู้ประกอบการหรือโรงงาน SME กรอ. และทาง ศูนย์วิจัยและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จะความรู้และให้คำแนะนำ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนด้านพลังงาน ลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม หรือมีการใช้พลังงานทดแทน ให้แก่โรงงานของผู้ประกอบการ SME นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพให้กับโรงงาน SME

ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยฯ เข้าไปวิเคราะห์สภาพการปฏิบัติงานของเครื่องจักรของแต่ละโรงงาน เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรนำไปสู่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขณะเดียวกันก็ลดต้นทุน ไปพร้อม ๆ กัน และนำไปสู่การนำเครื่องจักรมาแปลงให้ทุนสำหรับสินเชื่อในการประกอบกิจการ ทั้งส่วนของการฟื้นฟู พัฒนา และ การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการโดยตรงอีกด้วย

นอกจากนี้จะยังเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการและ 5 สถาบันการเงินหลัก ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรงเทพ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โดยทางศูนย์วิจัยฯ จะเป็นผู้ประเมินการเสริมประสิทธิภาพเครื่องจักร เพื่อประเมินว่าจะต้องใช้เงินทุนประมาณเท่าไหร่และช่วยลดต้นทุนได้อย่างไร ก่อนจะทำออกมาเป็นหนังสือรายงาน และหารือกับ 5 สถาบันการเงิน เพื่อประเมินแนวทางความช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป

ซึ่งโครงการนี้ขึ้น ได้รับผลตอบรับจากผู้ประกอบการ SME เป็นอย่างดี เนื่องจากทางทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีนโยบายลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักรให้ถูกลงต่อเครื่อง ทำให้ได้เสียงตอบรับดีขึ้นและสร้างความสนใจให้กับผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” ดร.ธิรินทร์ กล่าว

ปัจจุบันจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ได้มีการสัมมนา 6 ครั้ง จำนวน 619 คน โครงการจดทะเบียน 63 ประชุมคณะกรรมการเครื่องจักร 6 ครั้ง อบรมเชิงลึก 2 ครั้ง 96 คน ได้มีการวิเคราะห์เครื่องจักรจากโรงงาน 88 แห่ง คิดเป็นจำนวน 2,036 เครื่อง และจากวิเคราะห์คิดเป็นวงเงินลงทุน 482,668,283 บาท เกิดเป็นผลตอบแทน195,875,300 บาทต่อปี ซึ่งจะสามารถคืนทุนเฉลี่ย 2.46 ปี โดยได้มีโรงงานมีประสงค์เข้าร่วมกว่า 63 แห่ง ซึ่งนับเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล