20 องค์กรด้านเด็กเยาวชน ยื่นประธานสภาฯ คัดค้านแก้กฎหมายควบคุมน้ำเมา

9

20 องค์กรด้านเด็กเยาวชน ยื่นประธานสภาฯ คัดค้านแก้กฎหมายควบคุมน้ำเมา หลังกลุ่มทุนเหล้า-คราฟเบียร์ เสนอรื้อเพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจ หวังลดทอนกลไกควบคุมโฆษณาให้อ่อนแอ เปิดทางให้เร่ขาย แจก ชิมเสรี ขายคนเมาได้ตามดุลยพินิจของผู้ขาย

ธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน พร้อมด้วยวิกานดา ผิวกระด้าง ตัวแทนเยาวชนเหยื่อเมาแล้วขับ (ต้องนั่งวิลแชร์) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และแกนนำเยาวชนจาก20องค์กร ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านทาง นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านความพยายามเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ของกลุ่มผู้ประกอบการคราฟเบียร์ กลุ่มทุนน้ำเมารายใหญ่ และทุนข้ามชาติ เพื่อหวังลดทอนกลไกควบคุมโฆษณาให้อ่อนแอลง เปิดทางให้เร่ขายแจกชิมเสรี เลยเถิดถึงขั้นเสนอขายให้คนเมาได้ตามดุลยพินิจของผู้ขายโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ฯลฯ ทั้งนี้เครือข่ายเยาวชนได้แต่งตัวเสื้อขาวเปื้อนคาบสีดำเพื่อสะท้อนถึงเด็ก เยาวชนผู้ได้รับผลกระทบ (แทนด้วยสีขาว) ต้องแปดเปื้อนบอบช้ำ สูญเสียจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (แทนด้วยสีดำ)

ธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน กล่าวว่า จากกรณีกลุ่มคราฟเบียร์ เรียกร้องให้ แก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 การโฆษณา และอีกหลายมาตรา โดยอ้างว่าไม่เป็นธรรม ขัดขวางธุรกิจสุรารายเล็ก กลั่นแกล้งคนจน เป็นเครื่องมือหาประโยชน์จากสินบนนำจับ อ้างว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเครือข่ายฯ มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจรายย่อย และอุตสาหกรรมรายใหญ่ทั้งในและทุนข้ามชาติ สุดท้ายผลกระทบตกอยู่ที่เด็กเยาวชนสังคม สะท้อนจากข้อมูล นักดื่มหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นปีละ 250,000 คน/ปี คนไทยเสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 26,000 คน หากพ่อแม่ดื่ม ความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าของครอบครัวที่ไม่ดื่ม เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในสถานพินิจ กว่า 60% กระทำความผิดหลังการดื่ม ไม่รวมถึงมูลค่าความสูญเสียโอกาสจากการทำงาน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มากกว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี

ธีรภัทร์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายฯขอแสดงจุดยืนและข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอคัดค้านความพยายามของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีสาระเพื่อการลดทอนประสิทธิภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิต นำเข้าและจัดจำหน่าย
2.เครือข่ายฯสนับสนุนประเด็นลดการผูกขาด ของตลาดธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย แต่ควรแก้ปัญหาให้ตรงจุด ที่ประมวลกฎหมายสรรพสามิตไม่ใช่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีประชาชนเข้าชื่อสนับสนุนกันมากกว่า 13 ล้านคน

3.ขอเรียกร้องรัฐสภารับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน หากมีประเด็นการขอแก้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ควรยึดหลักการแก้ไขให้การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่นห้ามโฆษณาทุกกรณี กรณีคนเมาไปก่อเหตุให้ร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ร่วมรับผิดด้วย เป็นต้น ไม่ใช่แก้ไขให้อ่อนแอลง เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา เป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย หากปล่อยให้ค้าขายดื่มกินกันอย่างไร้ขอบเขต

4.ขอเรียกร้องไปยังกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มที่เคลื่อนไหวผลักดันแก้กฎหมายฉบับนี้ ให้หันมาค้าขาย ประกอบการอย่างรับผิดชอบตามกรอบของกฎหมาย ดีกว่าพยายามหาช่องสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง และหยุดผลักภาระให้คนดื่ม เพราะวาทกรรมดื่มอย่างรับผิดชอบนั้นแม้ในด้านหนึ่งจะดูดีและเหมือนจะถูกต้อง แต่ในทางกลับกันมันคือการผลักภาระทั้งหมดให้ผู้ดื่ม จนบรรดาผู้ขายผู้ผลิต ลอยตัวออกจากความรับผิดชอบทั้งที่เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ในทางธุรกิจ แต่ผลกระทบทางสังคมคนไทยคือผู้รับผลกรรม

“การห้ามโฆษณา มาตรา32เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ หากแก้ไขเท่ากับว่าปล่อยให้ธุรกิจน้ำเมาทำการตลาดโดยเสรี ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ ประชาชนมากกว่า 13 ล้านคนได้เข้าชื่อและร่วมกันผลักดัน เพื่อหวังเห็นการลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโดยหลักการหากจะแก้ไขต้องดีกว่าเดิมและเป็นประโยชน์กับสังคม เช่น ห้ามโฆษณาโดยเด็ดขาด ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ารัฐสภาจะไม่นำเรื่องนี้มาพิจารณา ท่าน สส. สว.ต้องรับฟังอย่างรอบด้าน ไม่เร่งรีบที่จะตัดสินใจ ต้องฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหลายส่วน ไม่ใช่รับฟังแต่ภาคธุรกิจอย่างเดียว” นายธีรภัทร์ กล่าว

ด้าน วิกานดา ผิวกระด้าง ตัวแทนเยาวชนเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องสูญเสียร่างกาย สูญเสียโอกาสในชีวิต และยังส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในทุกด้าน ทั้งต่อตัวผู้ดื่ม ครอบครัว ชุมชน สังคม จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมเพื่อลดผลกระทบ และไม่ใช่แค่มาตรการแก้ปัญหาเมาแล้วขับอย่างเดียว เพราะสุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา หากจะมีการแก้กฎหมาย ต้องแก้ให้แข็งแรง เช่น กำหนดจำนวนใบอนุญาตต่อความหนาแน่นของประชากร (ปัจจุบันจำนวนใบอนุญาตต่อประชากร คิดเป็น 1 ใบ ต่อ 100 คน) ให้ผู้ขายทุกคนควรจะต้องมีใบอนุญาตมีการอบรมสร้างความเข้าใจก่อนจึงสามารถขายสุราได้ หรือหากมีอุบัติเหตุจากคนเมาแล้วขับ ผู้ที่ขายให้คนเมาคนนั้นควรจะต้องมีส่วนรับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย เช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นต้น สิ่งที่อยากให้ช่วยกันขบคิดกันเช่นทำอย่างไรให้คนดื่มไม่ขับรถ ผู้ขายไม่ขายเหล้าเบียร์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ขายให้คนเมาที่ครองสติไม่ได้ อยากให้สภามาช่วยกันทำเรื่องนี้ดีกว่าไปแก้กฎหมายให้อ่อนแอ

อัครพงษ์ บุญมี อดีตเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตนเคยต้องโทษสิ้นอิสรภาพ อยู่ในสถานพินิจบ้านกาญจนาฯ เพราะเมาขาดสิติ และต้องรับสภาพความผิดไป3ปีกว่า จากนั้นจึงเริ่มหันมาทำงานรณรงค์ รู้ถึงพิษภัยและปัญหาของน้ำเมา และร่วมผลักดันกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนมีผลบังคับใช้ จึงไม่ยอมที่จะให้เกิดการแก้ไขเพียงเพราะประโยชน์ในทางการค้าของธุรกิจน้ำเมา มันฟังไม่ขึ้นเลย