องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ระบุว่า ภาวะวิกฤติ COVID-19 ได้ส่งผลให้มีประชากรที่ประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาเพิ่มขึ้นถึง 132 ล้านคนในปีนี้ และคาดว่าในปี ค.ศ.2030 ประชากรกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกจะไม่มีโอกาสบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารระดับโลก รวมถึงนักวิชาการจากประเทศไทย ได้นำข้อมูลมาอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในงานสัมมนาออนไลน์ Food Innopolis International Symposium 2020 (FIIS2020) ภายใต้หัวข้อ “The Quest for Sustainable Food System” ซึ่งจัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)
ชรีดาห์ ธาร์มาปูรี เจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านความปลอดภัยและโภชนาการอาหาร องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า ในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ทำให้อัตราความหิวโหยของประชากรลดลง แต่หลังจากปีค.ศ. 2014 เป็นต้นมา อัตรานี้กลับค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น จนในปี ค.ศ. 2019 ทวีปเอเชียมีจำนวนประชากรที่ประสบปัญหาทุพโภชนาสูงที่สุด ซึ่งแนวโน้มนี้มีทีท่าจะแย่ลงไปอีก
ช่วง COVID-19 แม้ว่าประเทศแถบเอเชียจะสามารถรับมือกับการระบาดของโรคได้ค่อนข้างดี ทำให้ราคาอาหารในประเทศคงที่ไม่พุ่งสูงขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอัตราการว่างงานที่เป็นผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้ ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้เท่าที่ควร จำเป็นที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา สร้างระบบซัพพลายเชนที่มีความยืดหยุ่นยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น เพราะในขณะที่มีจำนวนเด็กขาดสารอาหารเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขของผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวานก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเช่นกัน
“สัดส่วนของประเภทของอาหารที่มนุษย์ควรบริโภคกับอาหารที่เราผลิตอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สัมพันธ์กัน ทำให้ในปัจจุบันมีประชากรกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลกไม่ได้บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ กระบวนการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและที่ตั้งของภูมิประเทศนั้น ๆ จะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการของประชากรในแต่ละภูมิภาค” ชรีดาห์กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารยังควรตระหนักถึงกระบวนการทางเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีความยั่งยืน เช่น การลดก๊าซเรือนกระจกในการผลิต การลดขยะจากอาหาร การขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกลไกในการค้าอาหาร และความคุ้มครองทางสังคม ตลอดจนศึกษารูปแบบการบริโภคอาหารว่ารูปแบบดั้งเดิมเป็นอย่างไร ควรจะพัฒนาไปในทิศทางใด ซึ่งจำเป็นต้องมีการพิจารณาในเชิงนโยบายอย่างเร่งด่วนต่อไป
สร้างแหล่งโปรตีนทางเลือก
John Dutton หัวหน้าโครงการ Uplink และกรรมการบริหาร World Economic Forum ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า ปัญหาระบบอาหารถือเป็นปัญหาใหญ่ที่โลกต้องเผชิญ อุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบันนั้นขาดความยั่งยืนเป็นอย่างยิ่ง ประชากรกว่า 700 ล้านคนในภาคการเกษตรทั่วโลกมีความเป็นอยู่ที่ยากจน ขณะที่ประชากรอีกกว่า 2,000 ล้านคนก็ประสบภาวะทุพโภชนาในรูปแบบต่าง ๆ ภายในปี ค.ศ.2050 เราจำเป็นต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้น 50 % เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนเป็น 9,700 ล้านคน ขณะเดียวกันในด้านของสิ่งแวดล้อม ภาคการเกษตรเป็นผู้สร้างก๊าซเรือนกระจกราว 20- 40 % ของโลก จึงต้องร่วมกันหาวิธีแก้ไขเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยสร้างระบบอาหารประสิทธิภาพสูงที่ครอบคลุมและยั่งยืน อีกทั้งยังส่งมอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค
ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนด้านอาหาร วิทยาการทางเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูประบบอาหารโลก โดยเฉพาะ “โปรตีน” ที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี ค.ศ. 2050 จึงนำเสนอโซลูชั่น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) สรรหาแหล่งโปรตีนทางเลือกมาทดแทนเนื้อสัตว์ เช่น โปรตีนจากพืช แมลง และสาหร่าย (2) พัฒนากระบวนการผลิตโปรตีนในปัจจุบันให้มีความยั่งยืนมากขึ้น และ (3) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค โดยไม่เพียงลดการเกิดขยะอาหาร แต่ยังทำให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงแหล่งโปรตีนมากขึ้น
ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับที่ 11 ของโลก สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง คือ การผลิตอาหารอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรโลกในอนาคต ที่คาดว่าจะมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้สูงวัย จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการผลิตอาหารเพื่อให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดีที่สุด ตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตอาหาร การเพาะปลูกวัตถุดิบ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การใช้ประโยชน์ทุกส่วนของวัตถุดิบ การลดปริมาณขยะจากการผลิตอาหาร รวมถึงการลดปัญหาการสูญเสียจากการผลิตอาหาร ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 30%