สภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้เชื้อโรคบางอย่างอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยาวนานกว่าปกติ เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสโรต้าที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ซึ่งเป็นข่าวมาระยะหนึ่ง และยังคงเป็นโรคที่อยู่ในช่วงที่เฝ้าระวังกันอย่างหนัก ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการรายงานผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเพิ่มขึ้น และพบว่ามีผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าในกลุ่มผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น จากที่กรมควบคุมโรค ได้สุ่มตรวจหาเชื้อก่อโรคในผู้ป่วยอุจจาระร่วง จำนวน 32 ราย พบเชื้อไวรัสโรต้า 30 ราย
ทั้งนี้จากข้อมูลกรมควบคุมโรค ปี 2559-2561 มีรายงานเหตุการณ์การระบาดของโรคอุจจาระร่วงที่ทราบเชื้อสาเหตุ เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค ของกรมควบคุมโรค จำนวน 13 เหตุการณ์ เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า (3 เหตุการณ์) และโนโรไวรัส (10 เหตุการณ์) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดมีรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,510 ราย โดยไม่มีผู้เสียชีวิต
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ (15-21 มกราคม 2561) คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูหนาว ทำให้เชื้อไวรัสเติบโตและทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ประกอบกับสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เกิดจากการรับเชื้อที่มากับอาหารและน้ำโดยตรงเข้าทางปาก หรือโดยอ้อมหลังการสัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆ ที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัส อาการของโรคคือ มีไข้ อาเจียน และท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการขาดน้ำ
การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้ทุกกลุ่มอายุ แต่การติดเชื้อซ้ำความรุนแรงจะน้อยลง จึงขอแนะนำให้ประชาชนใช้มาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และป้องกันโรคอุจจาระร่วง ดังนี้
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน และสะอาด และไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
- การใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน
- หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังปรุงอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำ
- กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
- ทำความสะอาดอุปกรณ์ ของเล่น และเสื้อผ้าของผู้ป่วย เป็นอย่างดี
หากมีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงภายให้บ้าน ควรทำความสะอาดห้องน้ำด้วยน้ำยาที่มีสารประกอบจำพวกคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ (2%) คลอรอกซ์ และไฮเตอร์ เป็นต้น และทำความสะอาดของเล่น เครื่องใช้ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือนำไปตากแดด
นอกจากนั้นยังมีประกาศย้ำเตือนว่า ไม่ควรซื้อรับประทานเองอย่างเด็ดขาด หากป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อต่างๆ เพราะโรคดังกล่าวสามารถหายได้เอง
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในหลายพื้นที่ โดยพบผู้ป่วยเป็นเด็กและผู้สูงอายุค่อนข้างมาก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย อาทิ ไวรัสโรตา โนโรไวรัส เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรคอุจจาระร่วง สามารถพบได้ในทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มที่กล่าวข้างต้นมีโอกาสพบผู้ป่วยและมีความรุนแรงของโรคมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ตลอดปี 2560 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเกือบ 1 ล้านราย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกและไม่สะอาด ในน้ำ น้ำแข็งที่มีการปนเปื้อน หรือการสัมผัสกับเครื่องใช้ เสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสอง หรือของเล่นที่มีเชื้ออยู่ ซึ่งเป็นช่องทางก่อให้เกิดโรคที่สำคัญ
การป่วยด้วยโรคอุจจะร่วงในบางกรณี ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เพราะในกรณีที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถหายได้เองโดยธรรมชาติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานดื่มน้ำสะอาดที่ผสมผงเกลือแร่ (ORS) เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไป หากอาการมากผิดปกติหรือเป็นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2-3 วัน ควรรีบพบแพทย์โดยทันที
ทั้งนี้ ผู้ปกครองหรือคนดูแลควรหมั่นสังเกตอาการของบุคคลในครอบครัวอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียน ถ่ายมากผิดปกติ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ชีพจรเต้นเร็ว ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันภาวะช็อกจากการขาดน้ำและการเสียชีวิต หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422