กองทุนรวม ‘คนไทยใจดี’ ต้นแบบลงทุนอย่างยั่งยืน

15
พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา

กองทุนบัวหลวง ชูโมเดลสนับสนุนการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนทางสังคม ผ่านกองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) สนับสนุนผู้ลงทุนร่วมทำดีตั้งแต่บาทแรก ระบุนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนจนถึงปัจจุบันสร้างผลตอบแทนทางสังคมไปแล้วผ่าน 53 โครงการ เม็ดเงินกว่า 40 ล้านบาท มุ่งรับผิดชอบต่อสังคม 3 ด้าน สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Good Governance)

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) ชวนนักลงทุนลงทุนพร้อมทำความดีตั้งแต่บาทแรก ผ่านกองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) ที่กองทุนบัวหลวงเป็นบริษัทจัดการลงทุนรายแรกในประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนที่สร้างผลตอบแทนทางสังคม พร้อมโอกาสรับผลตอบแทนในรูปตัวเงิน โดยขณะนี้ กองทุน BKIND ก้าวสู่ปีที่ 7 แล้ว นับจากที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนต.ค. 2557 ภายใต้แนวคิดที่ว่า “กิจการที่มีกำไรและยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ เพื่อยกระดับสังคมไทยอย่างแท้จริง”

พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กองทุนบัวหลวง กล่าวว่า กองทุน BKIND ผลักดันให้เกิดการลงทุนที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือ ESG ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้ลงทุนได้มีส่วนร่วมทำความดีควบคู่ไปกับการลงทุนได้ เนื่องจากกองทุน BKIND จะมอบเงิน 40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการที่เรียกเก็บจากกองทุนไปสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมต่างๆ อันสอดคล้องกับแนวทางของโลกที่มุ่งเน้นความสำคัญเรื่องความยั่งยืน

ที่ผ่านมา BKIND ไม่ได้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับจากเวทีระดับนานาชาติด้วย โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ยกตัวอย่าง กองทุน BKIND ที่ร่วมมือกับพันธมิตร ได้แก่ Ashoka Thailand และ Change Fusion ทำหน้าที่คัดเลือกโครงการที่จะได้รับเงินสนับสนุน ว่า เป็นหนึ่งในตัวอย่างของนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม

นอกจากนี้ กองทุน BKIND ยังเป็นต้นแบบสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการต่อยอดในอุตสาหกรรมบริษัทจัดการลงทุนไทย โดยการรวมตัวกันของบริษัทจัดการ 11 แห่ง จัดตั้งโครงการกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Funds) ขึ้นมา เพื่อลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาล พร้อมแบ่งเงิน 40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการที่เรียกเก็บจากกองทุน สนับสนุนโครงการต่อต้านคอร์รัปชัน สำหรับกองทุนบัวหลวงเองก็ร่วมจัดตั้ง กองทุนรวมบัวหลวงหุ้นธรรมาภิบาลไทย (B-THAICG) ภายใต้โครงการกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทยเช่นกัน

นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน BKIND เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน กองทุนนี้สร้างผลตอบแทนทางสังคมไปแล้วผ่าน 53 โครงการ คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 40 ล้านบาท โดยโครงการทั้งหมดสอดคล้องกับแนวคิดการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือ ESG

สำหรับตัวอย่างโครงการที่ BKIND สนับสนุนเงินทุนไปแล้ว มีดังนี้
• โครงการบัดดี้โฮมแคร์ สนับสนุนโอกาสเด็กชนเผ่าเข้ามาฝึกอบรมวิชาชีพเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อทำงานร่วมกับบัดดี้โฮมแคร์ให้บริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่ครอบครัวมีศักยภาพจ่ายค่าบริการและต้องการคนดูแลที่บ้าน พร้อมกับนำกำไรที่ได้มาจัดบริการเยี่ยมผู้สูงอายุยากไร้ โดยมีเด็กชนเผ่าที่ขาดโอกาสเป็นอาสาสมัครดูแล
• โครงการขนส่งมวลชนที่ทุกคนออกแบบได้ นำร่องพัฒนาป้ายข้อมูลรถประจำทางกรุงเทพมหานคร 18 ป้าย ให้มีรูปแบบการจัดเรียงข้อมูลรถประจำทางทุกสายที่เหมาะสมต่อการใช้งานจริง

• โครงการนาแลกป่า ที่เป็นต้นแบบโครงการคืนพื้นที่ป่า 104 ไร่ ที่ถูกชาวบ้านรุกล้ำใน จ.น่าน โดยให้ชาวบ้านที่ไม่มีพื้นที่ทำกินสามารถมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง จนเกิดกลไกแรงจูงใจให้เกษตรกรคืนพื้นที่ป่าเพื่อแลกกับการสนับสนุนการปรับพื้นที่เพื่อทำนา และคืนพื้นที่อีก 130 ไร่ ในการดำเนินการโครงการนาแลกป่า ปีที่ 2
• โครงการคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน ต้นแบบกลไกดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ที่ช่วยดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลระดับอำเภอได้ 416 คน ใน จ.ลพบุรี และมีศักยภาพขยายผลไปยังพื้นที่อื่นที่มีปัญหาเดียวกัน
• โครงการทุนหมุนเวียนเพื่อกลุ่มวิสาหกิจของสตรี 3 จังหวัดภาคใต้ สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจสตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 15 กลุ่ม ได้รับทุนกู้ยืมพัฒนากิจการ เพื่อให้สมาชิกมีอาชีพและพึ่งพาตนเองได้ เกิดการเชื่อมโยงกลุ่มวิสาหกิจสตรีเข้ากับผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อเสริมศักยภาพในการเข้าถึงตลาดที่กว้างกว่าตลาดในพื้นที่

• โครงการสมทบทุนเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ให้กับศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สนับสนุนช่วยเหลือเงินทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มารับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่พนักงานกองทุนบัวหลวงได้มีส่วนร่วมสมทบทุนโครงการเพิ่มเติมด้วย

ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ พบว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด มีเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนอย่างยั่งยืนมากกว่า 3,432 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) รวมกันทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน รวมทั้งผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต