เด็กไทยติดเกม 90 % ติดพนัน 15 % เสนอทางออกจัดเรตติ้งเกมดี-มีกฎหมายคุม

17

เด็กไทยติดเกม 90 % ติดพนัน 15 % เสนอทางออกจัดเรตติ้งเกมดี-มีกฎหมายคุมธุรกิจเกม กลั่นแกล้งออนไลน์ยังน่าห่วง สสส.-สช.-สสดย. ร่วมปลุกสังคมตื่นตัวรับมือภัยออนไลน์ ดึงครอบครัวช่วยเติม “ความรัก” ด้วย “ความรู้” สร้างภูมิคุ้มกันรู้ทันสื่อ

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดเวที “เติมความรักด้วยความรู้…อยู่อย่างไรในโลกออนไลน์” โดยมี รศ.จุมพล รอดคำดี ที่ปรึกษา สสดย. และผู้ทรงคุณวุฒิแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 เข้าร่วมปาฐกถาพิเศษ “สานพลัง เสริมความรู้ อยู่ปลอดภัยในโลกออนไลน์” โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงการใช้สื่อและเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ทั้งในกลุ่มครูผู้สอนและเด็ก เยาวชน โดยส่งเสริมการใช้สื่อออนไลน์เพื่อเปิดโลกการเรียนรู้ของเด็กพร้อมพัฒนาศักยภาพและทักษะการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของครูผู้สอนในด้านจิตวิทยาการสื่อสารให้พร้อมรับกับสังคมดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลที่มีคุณภาพ

ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นสื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชน และนายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปี 2563 ยังพบว่า เด็กร้อยละ 90 เล่นเกมออนไลน์ โดยมากกว่าครึ่งใช้เวลาเล่นมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 15 เล่นพนันในเกม ขณะที่เด็กร้อยละ 80 เสนอให้มีการจัดเรตติ้งเกมที่มีประโยชน์ รวมทั้งให้มีกฎหมายควบคุมดูแลธุรกิจเกมเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และยังมีเรื่องของการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันหาทางออกด้วยวิธีการทางจิตวิทยาที่สร้างสรรค์ ใช้ความรักความเข้าใจจากครอบครัว ในการสร้างภูมิคุ้มกันที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้รู้เท่าทันสื่อและอยู่อย่างปลอดภัยในโลกออนไลน์

ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งส่งเสริมทักษะการเท่าทันสื่อให้แก่พลเมืองทุกกลุ่ม ด้วยการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ใช้และสร้างสรรค์สื่อที่มีความรอบรู้ เท่าทัน ควบคู่ไปกับการสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ ปัจจุบันการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มีความสัมพันธ์กับสังคมเป็นอย่างมาก จนเสี่ยงเกิดผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ แนวคิดการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy : MIDL) เป็นกระบวนการฝึกฝนทักษะการตั้งคำถาม วิพากษ์ วิจารณ์ และนำมาสู่การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการเข้าถึง (access) การคิดวิเคราะห์ (analyze) การสร้างสรรค์และผลิตสื่อ (create) และการใช้ประโยชน์จากสื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (act) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เด็กและเยาวชนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ใช้เพิ่มทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เวทีนี้ถือเป็นโอกาสที่ สสส. และภาคีทุกภาคส่วนร่วมสื่อสารเพื่อสานพลังครอบครัวและบุคคลที่อยู่แวดล้อมตัวเด็ก พร้อมร่วมกันผลักดันและสร้างสรรค์สังคมดิจิทัลไปสู่สังคมสุขภาวะเพื่อเด็ก และเยาวชนต่อไป

ผศ.วีรศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เด็กมีพัฒนาการและทักษะการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ทว่าการพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์และภัยเสี่ยงในโลกอินเทอร์เน็ต ยังเป็นประเด็นที่ผู้ปกครองและสังคมต้องส่งเสริมและร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ในโลกออนไลน์ จากข้อมูลสุขภาพคนไทย ปี 2563 พบว่า กิจกรรมส่วนใหญ่ที่เด็กใช้ในโลกออนไลน์ อันดับแรกเป็นการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แอปพลิเคชั่นไลน์ อินสตาแกรม รองลงมาเป็นการใช้สื่อเพื่อความบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง ดาวน์โหลดข้อมูลรูปภาพ รวมทั้งการแบ่งปันข้อมูล ทั้งนี้แม้อินเทอร์เน็ตจะมีประโยชน์เพิ่มการมีโอกาสทางการศึกษาในโลกที่กว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความเสี่ยงในโลกออนไลน์ ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรมีการเฝ้าระวังและเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อในสังคมออนไลน์ ก็จะทำให้เกิดคุณได้มากกว่าโทษ

สำหรับภายในงานมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยได้รับเกียรติจาก หมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ครูร่มเกล้า ช้างน้อย – ครูผู้นำกระบวนการ HACKATON นวัตกรรมการศึกษาไทย คุณผุสชา โทณะวณิก – ศิลปินในฐานะตัวแทนผู้ปกครอง เข้าร่วมเพื่อระดมความคิดเห็นในการสร้างภูมิคุ้มกันรู้ทันสื่อแก่เด็กและเยาวชนด้วยการใช้จิตวิทยาการสื่อสารที่สร้างสรรค์