สังคม ‘บูมเมอแรงคิดส์’ เพิ่มโอกาสผู้หญิงทำงาน

30
ผศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER Research) วิเคราะห์สังคมไทย เกิดปรากฎการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” ลูกกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น ส่งผลดีต่อตลาดแรงงานหญิงไทย เพิ่มโอกาสการทำงาน แนะรัฐจัดหาสถานเลี้ยงดูบุตร สนับสนุนสถาบันครอบครัว

ผศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Lusi Liao จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER Research) ได้ศึกษาแนวโน้มและภาวะการทำงานของประชากรโดยใช้ข้อมูลจากการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังจากการมีลูก คนไทยมีแนวโน้มที่จะย้ายกลับเข้าไปอยู่อาศัยกับพ่อแม่มากขึ้น ซึ่งส่งผลทางบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง ทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานและเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานของแรงงานผู้หญิง

ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดปรากฎการณ์ที่คนมีแนวโน้มที่จะย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนในตลาดแรงงาน มีชื่อเรียกว่าปรากฏการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” (Boomerang Kids) ในกรณีของประเทศไทย พบว่า ภายหลังจากการมีลูก คนไทยมีโอกาสที่จะย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัวพ่อแม่ตนเองหรือฝ่ายสามีมากขึ้นถึง 32-34%
การศึกษา พบว่า การอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ส่งผลทางบวกนั้นต่อแรงงานผู้หญิง โดยเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานถึง 21% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยร่วมกับพ่อแม่ ทั้งยังช่วยเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานอีกประมาณ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งการอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่นั้นทำให้ผู้หญิงได้รับความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการแบ่งเบาภาระงานบ้าน ทำให้มีเวลาในการเข้าร่วมตลาดแรงงานมากขึ้น

ในมิติของระดับการศึกษา พบว่า ผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจะได้รับผลกระทบทางบวกจากการอยู่ร่วมกับพ่อแม่มากที่สุด โดยเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมในตลาดแรงงานถึง 28% และเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่การอยู่ร่วมกันกลับไม่มีผลต่อโอกาสในการเข้าร่วมตลาดแรงงานของผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการศึกษาที่สูงทำให้ผู้หญิงมีรายได้มากเพียงพอที่จะสามารถจ่ายค่าสถานเลี้ยงดูเด็กได้ จึงทำให้มีภาวะการพึ่งพิงพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตรหลานค่อนข้างน้อย

ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อแรงงานผู้หญิงไทย เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสม ทำให้ผู้หญิงไทยที่อยู่ในตลาดแรงงานยังต้องพึ่งพิงพ่อแม่ ดังนั้น หากต้องการเพิ่มการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงไทย ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเลี้ยงดูบุตรและสนับสนุนเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยมาตรการช่วยเหลือจำเป็นที่จะต้องมีมิติที่กว้างและครอบคลุมมากกว่าการให้เพียงเงินอุดหนุน อย่างเช่น การเพิ่มนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัว และนโยบายสนับสนุนการอยู่อาศัยร่วมกันหรือการอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ เป็นต้น