ดัชนีโลกชี้สาเหตุที่เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกต้องปรับตัวในระบบดิจิทัล

28

บัณฑิตวิทยาลัยเฟลตเชอร์ มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Fletcher School at Tufts University) และมาสเตอร์การ์ด ได้ร่วมจัดทำดัชนีความพร้อมทางดิจิทัล (Digital Intelligence Index) เพื่อติดตามดูความก้าวหน้าของประเทศต่างๆ ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางดิจิทัล และการขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ประชากรทุกระดับ

ดัชนีความพร้อมทางดิจิทัลได้รวบรวมและพิจารณาข้อมูลโดยอ้างอิงจาก 2 องค์ประกอบหลัก อันได้แก่ วิวัฒนาการด้านดิจิทัล (Digital Evolution) และความเชื่อมั่นด้านดิจิทัล (Digital Trust) โดย ‘วิวัฒนาการด้านดิจิทัล’ เป็นตัวชี้วัดที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของประเทศจากยุคอนาล็อกในอดีตสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน ในขณะที่ ‘ความเชื่อมั่นด้านดิจิทัล’ เป็นตัวชี้วัดระดับความเชื่อมโยงระหว่างสังคมดิจิทัลในปัจจุบันสู่สังคมดิจิทัลในอนาคตที่ทุกคนจะมีทักษะและสามารถเข้าถึงเครื่องมือทางดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม

ดัชนี วิวัฒนาการด้านดิจิทัล ทำการศึกษาประชากรออนไลน์จำนวนร้อยละ 95 ทั่วโลก ทำการเก็บตัวเลขเป็นเวลา 12 ปี โดยทำการศึกษาในแง่ของสถาบันต่างๆ เงื่อนไขด้านดีมานด์และซัพพลาย และความสามารถด้านนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง ผลการศึกษาชี้ว่า

สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นประเทศที่มีพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่แม้จะมีการล็อกดาวน์ทั่วโลก แต่เกาหลีใต้และไต้หวันกลับมีอัตราการเติบโตสูงกว่าอัตราที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุไว้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนมาก มีการร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันศึกษาเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างผลิตภัณฑ์ทางดิจิทัลสู่ตลาดจำนวนมาก

ดัชนียังพบอีกว่า สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย สามารถทำได้ดีเทียบเท่ากับกลุ่มประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมัน และอิสราเอล ด้วยความที่มีความก้าวหน้าและแรงขับเคลื่อนทางดิจิทัลสูง ทั้งยังเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมจากความได้เปรียบที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ล้ำสมัย และมีการเชื่อมถึงกันอย่างทั่วถึง ทำให้ประชากรได้รับประสบการณ์ที่เกือบจะไร้รอยต่อ

ในทางกลับกัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีความเจริญด้านดิจิทัลและมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้สูงแต่มีแรงขับเคลื่อนทางดิจิทัลต่ำเนื่องจากต้องการความก้าวหน้าที่ยั่งยืน โดยเน้นลงทุนกับการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องมือทางดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม และเน้นสร้างสถาบันที่แข็งแกร่ง

ในอีกมุมหนึ่ง จีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีพื้นที่ในการเติบโตอีกมาก ทั้งยังมีแนวคิดที่เปิดรับเทคโนโลยี ทำให้เกิดโอกาสในการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ดึงดูดนักลงทุนอย่างมาก

บาสการ์ ชากระวรติ คณบดีฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศ บัณฑิตวิทยาลัยเฟลตเชอร์ กล่าวว่า “การแพร่ระบาดอาจเป็นบททดสอบความก้าวหน้าของโลกในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล เราเห็นชัดว่าประเทศที่มีความคล่องตัวทางด้านดิจิทัลสามารถปรับตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างยืดหยุ่นเมื่อเกิดวิกฤตรุนแรงทั่วโลก ทั้งยังพร้อมฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์”

อาเจย์ บัลลา ประธานฝ่ายไซเบอร์และวิเคราะห์ข้อมูล มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า “ไม่เคยมีเหตุการณ์ใดที่เร่งให้เราต้องศึกษาปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลมาก่อน หากมีความรู้ความเข้าใจในจุดนี้ธุรกิจและรัฐบาลจะสามารถร่วมมือกันช่วยให้ผู้คนกว่า 7.6 พันล้านคนทั่วโลกได้รับประโยชน์จากโอกาสมากมายที่จะเกิดขึ้นจากประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านดิจิทัล แม้วันนี้จะมีสิ่งที่ไม่แน่นอนอยู่อีกมาก แต่สิ่งที่ชัดเจนคือความสำเร็จทางดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญในการที่เราจะรับมือกับวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”