SDG Lab by Thammasat & AIS ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชีย

68

จากปัญหาสภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุจากมนุษย์ นอกจากจะส่งผลกระทบกับโลกแล้ว ยังส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทุกชีวิตบนโลก ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จึงเป็นเป้าหมายที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญมากขึ้นและถูกใช้เป็นฐานการกำหนดนโยบายของประเทศและองค์กร มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรโลกโดยยังสามารถรักษาระดับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ไม่ให้เกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ และมุ่งเน้นความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ

เอไอเอส ในฐานะพลเมืองดีของสังคม ที่มุ่งมั่นเดินหน้านำเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชีย “SDG Lab” ที่อาคารเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเป็นห้องแล็ปหรือห้องปฏิบัติการที่เป็นมากกว่า Co-Working Space เพื่อให้เหล่านวัตกร และคนทั่วทุกมุมโลกที่ต้องการทำโปรเจ็กต์ที่มุ่งแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ามาสร้างนวัตกรรมเพื่อโลกให้เกิดขึ้นจริง โดยมุ่งเน้นไปที่โครงการขนาดเล็ก ใช้งบประมาณน้อย แต่เกิดผลมาก

อุปกรณ์ IoT ควบคุมการเพาะปลูกแบบอัติโนมัติ

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจที่ตั้งอยู่บนแนวคิดความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยี 5Gและ IoT ที่เชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีสำคัญแห่งยุคเข้ามาเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น

SDG Lab by Thammasat & AIS จึงมีความตั้งใจจะเป็น สถานที่เชิงสัญลักษณ์และส่งเสริมเรื่องการลงมือทำเรื่องความยั่งยืน สร้างสรรค์นวัตกรรม อย่างมีผลกระทบในเชิงบวก สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงการออกแบบตกแต่งสถานที่ก็ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากที่สุด เริ่มตั้งแต่ ไม่มีการติดตั้งฝ้าเพดาน, จัดทำสไลเดอร์เชื่อมระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 แทนสัญลักษณ์การลื่นไหลของไอเดียที่เป็นประโยชน์ในการเคลื่อนตัวของนวัตกรรม

เฟอร์นิเจอร์ที่นำมาใช้เป็นงานรีไซเคิลจากวัสดุทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว, ไม้ยางพาราที่ตายแล้ว, กล่องเครื่องดื่ม หรือแม้แต่เศษเหล็กที่เหลือจากการพิมพ์อุปกรณ์ก็ถูกรียูสเป็นชิ้นงานตกแต่งพื้นที่ นอกจากนี้ ยังจัดพื้นที่ Open Space มีโซนปฎิบัติการต่างๆ เช่น Demonstration Space, Makerspaces, Co-Working Space, Event Space และ Meeting room เพื่อเอื้อให้เกิดการลงมือทำและสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกคน โดยมี Network Infrastructure และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น 3D Printing, อุปกรณ์เครื่องไม้,เครื่องมือไฟฟ้า และอื่นๆ อีกมากมายคอยอำนวยความสะดวก

พร้อมกันนี้ ยังมีการนำร่องสร้าง SMART City ด้วยการทำ Smart Farm ครอบคลุมบริเวณอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี โดยติดตั้งอุปกรณ์ 5G และ IoT ควบคุมดูแลการเพาะปลูกแบบอัตโนมัติและติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศและวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ไว้บนแปลงเกษตรบนดาดฟ้าของอาคารอุทยานฯ ที่สามารถควบคุมการทำงานผ่านระบบฟาร์มอัจฉริยะ Smart Farm เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน และเร็วๆ นี้จะขยายลงไปพื้นที่ด้านข้างอีก 100 ไร่ เพื่อให้เป็นแปลงนาปลูกข้าวสำหรับคนในมหาวิทยาลัยและชุมชน

นอกจากนี้ ก็จะนำ 5G เข้ามาเป็นส่วนช่วยการพัฒนาความเป็นอยู่ของเมือง เช่น การนำรถยนต์ไร้คนขับมาวิ่งอยู่ไหนมหาวิทยาลัย โดยใช้เทคโนโลยี 5G เข้ามาควบคุม และยังเป็นรถพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งเอไอเอสจะใช้ธรรมศาสตร์เป็นจุดทดสอบของการพัฒนาเมือง

รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายการพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนและความยั่งยืน เราจึงร่วมมือกับ AIS นำเทคโนโลยีที่สำคัญต่างๆ เข้ามาพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน SDG Lab by Thammasat & AIS แห่งนี้ เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่สนใจในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมาใช้สถานที่แห่งนี้ มาทดลองให้เกิดผลจริง และแก้ไขสิ่งที่ดำเนินการนั้นให้เป็นรูปธรรม ที่จะส่งผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

จากซ้ายไปขวา : สมชัย เลิศสุทธิวงค์ รศ. เกศินี วิฑูรชาติ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า”ปัญหาโลกร้อน เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ธรรมศาสตร์มีอาคารป๋วย 100 ปี ที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อได้ร่วมกับเอไอเอสสนับสนุนเทคโนโลยีมาเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เปิดกว้างให้ผู้ที่คิดเหมือนกัน มาเจอกันได้มาเรียนรู้กัน ช่วยกันสร้างโปรเจ็กต์ที่สามารถใช้งานได้จริง ส่งผลกับคนได้มาก แต่ใช้งบประมาณน้อย เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่ดีได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับสังคมและประเทศ และทำให้ Living Lab แห่งนี้เปลี่ยนแปลงโลกได้จริง

กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า SDG Lab by Thammasat & AIS เป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่จะมาร่วมระดมความคิดในการแก้ปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ความหลากหลายในเรื่องต่างๆ ดิฉันในฐานะตัวแทนของสหประชาชาติ จะขอติดตามดูการเติบโตของ SDG Lab และยินดีให้การสนับสนุนการพัฒนาเหล่านี้ที่เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ