สสส.มอบโล่รางวัล Happy Family Award ประจำปี 2563

14

สสส.มอบโล่รางวัล Happy Family Award ประจำปี 2563 ชื่นชม “25 องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข” กระตุ้นสร้างคุ้มกันให้ครอบครัวไทย ฉีดวัคซีนเข้มแข็ง-อบอุ่น-สงบสุข-พอเพียง พร้อมเผชิญทุกปัญหา สถาบันวิจัยประชากรฯ ม.มหิดล เผยระดับคะแนน “ครอบคร้วมีสุข” ปี 2562 เฉลี่ยเท่ากับ 68.7 ขับเคลื่อนสร้าง “นักสร้างเสริมครอบครัวมีสุข” ในองค์กร หวังต่อยอดขยายผลครอบคลุมสถานประกอบการทั่วไทย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย จัดงาน “องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข” ประจำปี 2563 หรือ Happy Family Award 2020 ภายใต้โครงการการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร โดยมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ครอบครัวมีสุขในทศวรรษต่อไป”

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สถานการณ์แนวโน้มครอบครัวไทยยุคใหม่มีหลายเรื่องที่น่ากังวล ด้วยลักษณะของครอบครัวหลักของสังคมไทย ส่วนใหญ่เป็น “ครอบครัวเดี่ยว” มีสมาชิกในครอบครัว 2-3 คน ซึ่งครอบครัวที่มีสมาชิก 1-2 คน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะเดียวกันครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่เป็น “ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว” มากกว่า 1 ใน 3 ของครอบครัวที่มีเด็กเจเนอเรชั่นซี-อัลฟ่า (Generation Z-Alpha) ซึ่งมีอายุระหว่าง 3-14 ปี มีแนวโน้มที่ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ลูก และเกิดครอบครัวแหว่งกลางเพิ่มขึ้น หรือ ครอบครัวที่มีรุ่นปู่ย่าตายายอาศัยอยู่กับรุ่นหลานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่าตัว ที่น่าห่วงที่สุดคือ ในปี 2560 มีผู้สูงอายุ ร้อยละ 41.5 จากประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด 11.3 ล้านคน อาศัยอยู่ในครอบครัวเปราะบาง ที่ผู้สูงอายุต้องพึ่งพาตนเองหรือดูแลคนในครอบครัว ในจำนวนนี้ ร้อยละ 50.2 ผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับคู่สมรสตามลำพัง และร้อยละ 26.1 ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียวอยู่ตามลำพังมีแนวโน้มสูงขึ้น

“วิกฤติทางสังคมที่ครอบครัวไทยต้องเผชิญเพราะผลกระทบจากโควิด-19 พบว่า ด้านเศรษฐกิจและการเงินมีครอบครัวไทยเพียงร้อยละ 23.4 เท่านั้น ที่ไม่มีปัญหาด้านการเงิน แต่อีกร้อยละ 76.6 ต้องเผชิญกับปัญหาด้านการเงินและเศรษฐกิจในระดับที่แตกต่างกันไป ด้านสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว พบว่า มีครอบครัวไทยร้อยละ 5.8 ที่เมื่อมีความหงุดหงิดและโมโหแทบไม่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์กับคนในครอบครัวได้เลย ทำให้ร้อยละ 0.9 มีการใช้ความรุนแรงทางร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งความขัดแย้งทางความคิด มุมมองทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน ช่องว่างระหว่างวัย ซึ่ง สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำงานภายใต้โครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดี ลดความขัดแย้งในครอบครัว นอกจากนี้ สสส. สนับสนุนการสร้างเสริมความอบอุ่นและเข้มแข็งในครอบครัว ทั้งในสถานที่ทำงาน (Workplace) และในชุมชน (Community) รวมถึงในสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะปัญญา และ ทักษะด้านความรู้ รวมถึงสนับสนุนนโยบายที่เป็นมิตรสำหรับครอบครัว” ดร.สุปรีดา กล่าว

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. สนับสนุนสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในการทำงานผ่านโครงการการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร ปี 2561-2564 โดยมีภารกิจหลักในการสนับสนุนองค์กรภาคี 122 องค์กรทั่วประเทศให้สามารถสร้างเสริมครอบครัวมีสุขคนทางานองค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวมีสุข” โดย 4 องค์ประกอบนำไปสู่ “ครอบครัวมีสุข” ได้แก่ ความอบอุ่น มีความผูกพันเข้าใจ ความพร้อมในการปรับตัว 2.ความสงบสุข หมายถึงไร้ความรุนแรง 3.ความเข้มแข็งมีภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเองได้ และ4.ความพอเพียง พอประมาณ มีความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมดำเนินการสำรวจ “ครอบครัวมีสุข” และ ฝึกอบรม นักสร้างเสริมครอบครัวมีสุขในองค์กร ให้มีศักยภาพในการเขียนแผนปฏิบัติการที่นำไปปฏิบัติจริง ตลอดจนมีการเยี่ยมองค์กรเพื่อติดตามประเมินผลสาเร็จของกิจกรรม สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกัน “ครอบครัวมีสุข” ด้วย 4 วัคซีน ได้แก่ วัคซีนเข้มแข็ง วัคซีนอบอุ่น วัคซีนสงบสุข และ วัคซีนพอเพียง เป็นการสร้าง “ครอบครัวสุขภาวะ” ให้เป็นพื้นฐานแห่งความสุขของคนในชาติ หนุนเสริมทุกภาคส่วนในการสร้าง “ครอบครัวอบอุ่น” และ “ครอบครัวมีสุข” เพื่อเกิดเป็นต้นแบบ ขยายฐานอย่างต่อเนื่อง

ด้าน รศ. ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต หัวหน้าโครงการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการ “การสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร” โดยขับเคลื่อน “ครอบครัวอบอุ่น” ไปสู่ “ครอบครัวมีสุข” จำนวน 122 องค์กร รวมทั้งสร้าง “นักสร้างเสริมครอบครัวมีสุข” จำนวน 772 คน จาก 70 องค์กรที่มีความพร้อม ด้วยหลักสูตร การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการครอบครัวมีสุขคนทำงาน” ทำให้เกิด “แผนปฏิบัติการสร้างเสริมครอบครัวมีสุข” ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในบริบทต่างๆ ของสถานประกอบการ นอกจากนี้ ผลการสำรวจครอบครัวมีสุขของคนทำงานองค์กรในปี 2562 ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เมษายน 2562 จำนวนทั้งสิ้น 12,565 คน พบว่า ดัชนีครอบครัวมีสุขของคนทำงานองค์กรคือ 68.7 โดยแบ่งเป็น ความอบอุ่นมีค่า 72.2 ความสงบสุขมีค่า 76.7 ความเข้มแข็งมีค่า 60.0 และความพอเพียงมีค่า 64.9

ทั้งนี้ มีการมอบโล่รางวัล ให้กับ 25 องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข และประกาศผล“องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข” ประจำปี 2563 แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ “ดี” “ดีมาก” “ดีเด่น” ในระดับ “ดี” ได้แก่ บริษัทสมชายการยางเซอร์วิส จำกัด 1977 ในระดับ “ดีมาก” ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลิ่มเชียงเส็ง ในระดับ “ดีเด่น” ได้แก่ บริษัทคิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้มีการมอบรางวัล Popular Youtube Vote และมอบรางวัล Popular Conference Vote ด้วย