กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ยังมีฝนตก และบางพื้นที่อาจมีน้ำท่วมขัง ระมัดระวังป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู เผยปีนี้ผู้ป่วยกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมแนะหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ทุกครั้ง รวมทั้งผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานให้งดลงเล่นน้ำที่ยังท่วมขังซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าช่วงนี้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ของภาคใต้ อาจทำให้พื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาน้ำท่วมขัง และโรคที่ประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ โรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคไข้ฉี่หนู โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมที่ต้องแช่น้ำหรือลุยน้ำเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนูได้ง่าย ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้จะเข้าทางบาดแผล รอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน และการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ
สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 19 ธันวาคม 2563 พบผู้ป่วย 1,537 ราย เสียชีวิต 20 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 837 ราย (ร้อยละ 54.4) กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 45-54 ปี รองลงมา อายุ 35-44 ปี และ อายุ 25-34 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร รับจ้าง และนักเรียน ซึ่งมีประวัติเสี่ยง ได้แก่ ทำงานแช่น้ำหรือลุยน้ำเป็นเวลานาน หาปลา รวมทั้งการลงว่ายน้ำที่ยังท่วมขังซึ่งพบมากในกลุ่มนักเรียน สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ระยอง พังงา ยะลา พัทลุง และสงขลา ตามลำดับ
สำหรับอาการของโรคไข้ฉี่หนูเริ่มจากมีไข้สูงทันที ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมาก โดยเฉพาะที่โคนขาและน่อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย แพทย์จะดำเนินการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคตามอาการ และความรุนแรงของโรค ยิ่งพบแพทย์เร็วยิ่งมีโอกาสหายเร็ว โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเกิดจากพบแพทย์ช้าเกินไป จึงต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันทีที่มีอาการ
นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำว่า วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดิน ลุยน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ 2.หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 3.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422