อย. ร่วม กองปราบฯ และสมอ. ทลายแหล่งลักลอบถุงมือทางการแพทย์เถื่อน

7

อย. ร่วม กองปราบฯ และสมอ. ทลายแหล่งลักลอบนำเข้าและแบ่งบรรจุถุงมือทางการแพทย์เถื่อน ย่านปทุมธานี ผลการตรวจค้น พบเป็นโรงงานเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าถุงมือมาแบ่งบรรจุแล้วส่งออกไปต่างประเทศ จึงยึดของกลางทั้งหมดเป็นถุงมือบรรจุกล่องพร้อมส่งกว่า 9,200 กล่อง ถุงมือรอการบรรจุและกล่องเปล่าอีกมหาศาล รวมมูลค่ากว่า 300 ล้าน พร้อมเร่งขยายผลจับกุมผู้เกี่ยวข้องทั้งขบวนการต่อไป

วันนี้ (25 ธันวาคม 2563) กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป., พ.ต.อ. บุญลือ ผดุงถิ่น ผกก.2 บก.ป., ว่าที่ พ.ต.อ. วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป. และ พ.ต.ท. สุรเชษฐ์ เดชะพันธ์ รอง ผกก.3 บก.ป. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดย ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายธัชชัย หนูสวัสดิ์ นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ ร่วมกันแถลงผลการทลายแหล่งลักลอบนำเข้าและแบ่งบรรจุถุงมือทางการแพทย์ ย่านปทุมธานี สรุปผลดังนี้

ตามที่กองบังคับการปราบปรามได้รับแจ้งว่ามีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน ณ โรงงานผลิตถุงมือแห่งหนึ่งย่านจังหวัดปทุมธานี จึงได้ประสาน อย. และ สมอ. เข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว เลขที่ 92/13 หมู่ที่ 5 ถนนลำลูกกา ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จากการตรวจค้นพบเป็นโรงงานเถื่อน มีแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งกำลังช่วยกันบรรจุถุงมือไม่ได้มาตรฐานลงกล่อง พบถุงมือที่บรรจุลงกล่องสวมยี่ห้อต่าง ๆ เพื่อรอส่งไปขายในต่างประเทศกว่า 9,200 กล่อง พร้อมถุงมือที่รอการบรรจุและกล่องเปล่าอีกเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางไว้ทั้งหมด รวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท

และเก็บตัวอย่างถุงมือส่งตรวจวิเคราะห์ หากพบว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้คุณภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนดจะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตั้งประเด็นความผิดในเบื้องต้น ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ดังนี้ ฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิต/นำเข้าเครื่องมือแพทย์ และฐานผลิต/ขายเครื่องมือแพทย์ปลอม และไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษสูงสุด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 อีกด้วย

พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการตำรวจกองปราบปราม กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการที่ขาดคุณธรรมฉวยโอกาสลักลอบนำเข้าหรือผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพในกลุ่มป้องกันโรคโควิดโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้มาจำหน่าย ซึ่งอาจทำให้พี่น้องประชาชนได้รับอันตราย สำหรับการจับกุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สืบทราบว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ลักลอบนำเข้าถุงมือยางบรรจุกระสอบแล้วนำมาแบ่งบรรจุใส่กล่องโดยสวมยี่ห้อต่าง ๆ โดยไม่ได้ขออนุญาต และลักลอบใช้แรงงานต่างด้าวเถื่อนเป็นการกระทำความผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะร่วมกันขยายผลจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งขบวนการและดำเนินคดีจนถึงที่สุด

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อไปว่า ถุงมือทางการแพทย์มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้ป้องกันการปนเปื้อนระหว่างผู้ป่วยและผู้ใช้ในการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาโรค และใช้สำหรับการจับหรือสัมผัสกับวัสดุทางการแพทย์ที่อาจปนเปื้อน ฉะนั้น ผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะต้องขออนุญาตกับ อย. ก่อน รวมถึงตัวผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจากการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้เป็นรายเดิมที่ อย. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนและแถลงข่าวผลการจับกุมไปก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นการทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศไทย เจ้าหน้าที่จะสืบสวนต่อไปว่ามีการปลอมแปลงเอกสารทางราชการเกี่ยวกับการได้รับอนุญาตหรือได้รับใบรับรองการส่งออกหรือไม่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขอเตือนผู้ที่กำลังหาสินค้าพวกถุงมือทางการแพทย์เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศว่า ขณะนี้มีขบวนการหลอกลวงมากมาย จึงขอแนะนำให้ตรวจสอบการได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน ทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือสายด่วน อย. 1556 ก่อน มิฉะนั้น ท่านอาจจะเสียเงินโดยได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ อาจโดนปฏิเสธสินค้าได้ หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือเดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทุกวันในเวลาราชการ