ภาพที่หลายคนติดตาเมื่อเข้าไปยัง รพ.มหาราช นครราชสีมา คือ ปริมาณที่แออัดของจำนวนผู้ป่วย แม้ว่าหลายท่านจะเคยเห็นภาพนี้ในโรงพยาบาลรัฐหลายๆ แห่งของประเทศ แต่ที่ รพ.มหาราช นครราชสีมา ถือว่าเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องทำงานหนักที่สุด ด้วยปริมาณผู้ป่วยสูงสุด
ประเทศไทยมีสถิติที่ไม่น่าปลื้มใจในเรื่องของปริมาณการเกิดอุบัติเหตุ เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเฉพาะช่วงเทศกาล และจุดที่เกิดเหตุมากที่สุดของประเทศไทย ก็อยู่ที่นครราชสีมา รพ.มหาราช นครราชสีมา จึงรับบทหนักมาโดยตลอด
“ที่นี่มีผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินมีมากถึง 300 รายต่อวัน และพุ่งสูงเป็น 3 เท่าในช่วงเทศกาล เฉลี่ยมีคนไข้ประมาณ 1.1 แสนคนต่อเดือน หรือ มากกว่า 1 ล้านคนต่อปี นับเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่รับงานหนักที่สุด” นายแพทย์สมชัย อัศวสุดสาคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา
ทั้งนี้โรงพยาบาลมหาราชฯ สังกัดเขตสุขภาพที่ 9 รับผิดชอบ 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ มีประชากรในความดูแลรับผิดชอบ 6.6-6.7 ล้านคน เป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพการรักษาสูงครอบคลุมทุกโรค ปัจจุบันมีเตียงที่ขึ้นทะเบียนรองรับคนไข้ 1,300 เตียง แต่ปริมาณคนไข้ใน วันละ 1,600-1,700 คน ผู้ป่วยนอกอีก 4,300 คนต่อวัน
สำหรับศักยภาพด้านบุคลากร ปัจจุบันโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา มีแพทย์กว่า 300 คน พยาบาลประมาณ 1,300 คน เมื่อเปรียบเทียบกับงานแล้ว มีศักยภาพในการรองรับได้เพียง 60% เท่านั้น ดังนั้นบุคลากรของโรงพยาบาลจึงต้องทำงานหนักกว่าทั่วไป เช่น ปกติแล้ว พยาบาลจะต้องทำงานหรือขึ้นเวร 22 วันต่อเดือน แต่ที่นี่พยาบาลต้องขึ้นเวร 27-28 วันต่อเดือน
“ภาพที่ติดตาของผู้ที่เข้ามาโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา คือ ประมาณคนไข้ที่อยู่กันอย่างแออัด ปกติความห่างต่อเตียง ต้องอยู่ที่ระยะ 1 เมตร ห้องละประมาณ 30 เตียง แต่ที่เป็นอยู่คือห้องละ 50-60 เตียง จนมีเตียงที่ล้นออกมาด้านนอก”
นายแพทย์สมชัย กล่าวต่อว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดต่างๆ จังหวัดนครราชสีมา มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตถั่วเฉลี่ยสูงสุดในประเทศ และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกๆ ปี โดยโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กลายเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่รับภาระหนักที่สุดในช่วงเทศกาลต่างๆ เนื่องจากมีผู้คนใช้เส้นทางผ่านจังหวัดเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงได้เกิดโครงการ ก่อสร้างอาคารศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน หรือ อาคารสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ตัวอาคารก่อสร้างเป็นอาคารสูง 12 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 24,000 ตรม. ซึ่งจะประกอบไปด้วยศูนย์อุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน(Emergency department)ศูนย์ห้องผ่าตัด ศูนย์ส่องกล้องเพื่อการตรวจรักษา หอผู้ป่วยบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อน (Burn unit ) หอผู้ป่วยวิกฤต โรคหัวใจ ( CCU ) และหอผู้ป่วยวิกฤตทางอุบัติเหตุ หอผู้ป่วยอุบัติเหตุทั่วไป หอผู้ป่วยพิเศษ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์สำหรับ รับ–ส่งต่อผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน โดยต้องใช้งบการก่อสร้างอาคารหลังนี้เบื้องต้นประมาณ 500 ล้านบาท
เดิมทีโครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2558 เดิมทีตั้งเป้าว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2562 แต่เนื่องจากใช้เงินบริจาคทั้งหมด ปัจจุบัน(ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560) มียอดบริจาคแล้วเป็นจำนวน 378,338,889.87 บาทและนำไปก่อนสร้างอาคารมีความคืบหน้าแล้วจำนวน 6 ชั้น ยังขาดเงินทุนที่จะดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ
“หลังจากอาคารหลังนี้เสร็จสิ้นพร้อมให้บริการ คาดว่าจะเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้กับโรงพยาบาลได้อีกราว50% ส่วนการพัฒนาต่อไป ยังคงดำเนินการเพื่อของบประมาณในการสร้างอาคารเพื่อรองรับผู้ป่วยในให้ได้มากขึ้น พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน ระดับอำเภอ และจังหวัดใกล้เคียงให้สูงขึ้น เพื่อให้คนไข้ได้ใช้บริการใกล้บ้าน และมีการส่งเคสเข้ามาที่โรงพยาบาลมหาราชน้อยลง หรือต้องหนักจริงๆ ถึงจะเข้ามา”
“เดิมทีโครงการคิดไว้แค่ส่วนอาคารเป็นหลัก ดังนั้นยังต้องขยายงบลงทุน เนื่องจากเมื่ออาคารเสร็จสิ้นแล้ว ยังต้องการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางแพทย์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษา คาดว่าโครงการทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณราว 800 ล้านบาท”
ล่าสุดโครงการ Arts for Life: Mercy Mission ร้อยความดี ต่อลมหายใจ โดยกลุ่มศิลปิน Art for Live ร่วมกับ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมผลงานจากศิลปินกว่า 70 คน ตั้งแต่รุ่นใหญ่ อย่าง ศิลปินแห่งชาติ จนมาถึงศิลปินดังรุ่นใหม่ และดารานักแสดง ที่พร้อมใจกันนำ “งานสะสม” และ “งานศิลป์ชิ้นพิเศษ” มาจัดนิทรรศการเพื่อ จำหน่าย และประมูล โดยนำรายได้สมทบทุนสร้าง ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน หรือ อาคารสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
ผู้ที่สนใจเข้าชมนิทรรศการได้แล้ววันนี้ ถึง 18 ก.พ. 2561 และในวันเดียวกันจะมีการประมูลผลงานชิ้นสำคัญ จำนวน 24 ชิ้น ถึงวันนั้น ผลงานที่มีคุณค่า ก็จะเพิ่มมูลค่า และส่งต่อให้กับทุกชีวิตที่มีค่าต่อไป
สำหรับปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลรัฐแทบทุกที่ หากยังพัฒนาด้านสถานที่และบุคลากรไม่ทัน ก็ขอให้คนไทยหันมาดูแลสุขภาพ และใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและประสบอุบัติเหตุ