จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ระลอกใหม่ที่กระจายไปทุกภูมิภาคอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามระดับพื้นที่ควบคุม แม้ยังไม่ยกระดับเป็นมาตรการล็อกดาวน์เหมือนการระบาดเมื่อเดือนเมษายน 2563 แต่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงร้านอาหาร สถานบันเทิง สะท้อนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายและท่องเที่ยวแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินผลกระทบของสถานการณ์โควิดต่อภาคการค้าและภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสแรกปี 2564 จาก 3 ปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ 1 ) ระดับความรุนแรงตามพื้นที่การระบาด 2) การพึ่งพิงภาคการค้าและภาคการท่องเที่ยว และ 3) รายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจังหวัด (GPP) พบว่าในภาพรวม ไทยมีสัดส่วนการพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 22% ต่อ GPP รวมทั้งประเทศ และมีการจ้างงานรวมกัน 6.9 ล้านคน ซึ่งคาดว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจะทำให้รายได้จากภาคการค้าและการท่องเที่ยวลดลงรวมกันกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นฐานการผลิต แหล่งการกระจายสินค้า และขายสินค้าที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว
โดยกลุ่มนี้มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 23% การจ้างงานในพื้นที่ 4.1 ล้านคน คาดผลกระทบต่อรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1.28 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 91% ของรายได้ที่ถูกกระทบทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่เหลือซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมและเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 20% มีการจ้างงานในพื้นที่ 2.8 ล้านคน ผลกระทบต่อรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวคาดรวมกันกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท
เจาะ 14 จังหวัดแรกที่ได้รับผลกระทบต่อภาคการค้าและการท่องเที่ยวสูง พบว่าส่วนใหญ่อยู่กลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีรายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (GPP) สูงสุดของประเทศ และมีสัดส่วนการพึ่งพิงภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวมากถึง 33% มีการจ้างงาน 2.1 ล้านคน คาดรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวจะลดลง 81,424 ล้านบาท รองมาเป็น ชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายได้ GPP สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และมีสัดส่วนการพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 19% มีการจ้างงาน 2.7 แสนคน ทำให้ผลกระทบต่อรายได้อยู่ที่ 15,463 ล้านบาท
ส่วนภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดที่มี GPP เป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ และมีสัดส่วนการพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยวสูงถึง 53% มีการจ้างงาน 1.5 แสนคน ผลกระทบต่อรายได้อยู่ที่ 2,799 ล้านบาท ในขณะที่ ระยองและสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเช่นเดียวกับชลบุรี แต่มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยวต่ำกว่าโดยอยู่ที่ 8% และ 15% ทำให้ผลกระทบต่อรายได้ลดลงน้อยกว่าอยู่ที่ 2,748 และ 2,682 ล้านบาท ตามลำดับ
หนุนภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตามระดับผลกระทบของธุรกิจในแต่ละพื้นที่ เช่นธุรกิจค้าปลีกทั่วไป ร้านอาหาร โรงแรม และสถานบันเทิง ฯลฯ ซึ่งมีการจ้างงานอยู่กว่า 6.9 ล้านคน อาทิ มาตรการพยุงค่าครองชีพของแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มาตรการรักษาสภาพการจ้างงานของภาคธุรกิจ ตลอดจนแนะทุกภาคส่วนร่วมปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค.อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สถานการณ์การระบาดกลับเข้าสู่ปกติโดยเร็ว