สสส.-นิเทศฯนิด้าเผยผลสำรวจช่วงวันเด็ก 64 เด็กไทยใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์ถึง 89 %

33

สสส.-นิเทศฯนิด้าเผยผลสำรวจช่วงวันเด็ก 64 เด็กไทยใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์ถึง 89 % อยู่กับผู้ปกครองเพียง 11 % ยุคโควิด-19 รอบใหม่เด็กอยากเที่ยว-อยากบอกรักพ่อแม่-สัญญาเป็นเด็กดี-อยากให้ครอบครัวเข้าใจมากขึ้น ชวนเปิดพื้นที่พัฒนาพลเมืองเท่าทันสื่อ สร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ

ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า วันเด็กแห่งชาติ ปี 2564 สสส. และคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมทำการสำรวจการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องการจะสื่อสารกับครอบครัวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อดึงให้เยาวชนมาใช้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ สสส. ที่สนับสนุนให้ ‘คนไทยฉลาดใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ’

โดยพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะให้ประชาชนเป็นผู้ใช้และผู้สร้างสรรค์สื่อ (media users and creators) ที่รอบรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) สู่การเป็น ‘พลเมืองตื่นรู้และนักสื่อสารสุขภาวะ’ ที่มีทักษะ 4 ด้าน คือ 1.การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL – Media, Information and Digital Literacy) 2.การสื่อสารและการสร้างความร่วมมือ 3.การเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และ 4.การตระหนักรู้เท่าทันและการสะท้อนความคิด

“เด็กไทยยอมรับว่าใช้เวลาอยู่กับตัวเองผ่านสื่อสังคมคมออนไลน์มากกว่าอยู่กับผู้ปกครอง และใช้สื่อเพื่อการติดต่อสื่อสารเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันกับผู้ปกครอง ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็น พูดคุยกับเพื่อนผ่านสื่อ ในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2564 เด็กๆ ต้องการใช้สื่อบอกรักและห่วงใยเรื่องสุขภาพผู้ปกครองในช่วงการระบาดของโควิด-19 และสัญญาว่าจะเป็นเด็กดี สิ่งที่เด็กอยากได้จากผู้ปกครอง มีเพียงอยากให้ผู้ปกครองพาไปเที่ยว หากทุกภาคส่วนมีทิศทางการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ในโลกยุคดิจิทัล ร่วมกัน สนับสนุนให้มีการใช้เวลาคุณภาพร่วมกันและเปิดพื้นที่รับฟังกันมากขึ้นในครอบครัว จะช่วยเสริมสร้างปัจจัยที่จะโน้มนำคนไทยให้มีวิถีชีวิตสุขภาวะท่ามกลางบริบทของสังคมในยุคศตวรรษที่ 21” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงคกิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 11-18 ปี จำนวน 2,972 ตัวอย่างทั่วประเทศไทยในช่วงวันเด็กแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.0 ใช้เวลาบนโลกออนไลน์กับตัวเอง รองลงมา ร้อยละ 38.3 จะใช้เวลากับเพื่อน และเพียงร้อยละ 11.7 ใช้เวลากับพ่อแม่ หรือสมาชิกในครอบครัว และเมื่อถามถึงจุดประสงค์ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.0 ระบุว่า เพื่อเล่าเรื่องราว ความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ของตัวเองผ่านสื่อ รองลงมา ร้อยละ 56.4 ระบุว่า เพื่อติดต่อ พูดคุย หาเพื่อนใหม่ที่รู้จักผ่านโลกออนไลน์ ร้อยละ 54.5 ระบุว่า เพื่อติดต่อพูดคุยกับเพื่อนที่รู้จักในโรงเรียน หรือเพื่อนบ้าน

ด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว ส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.2 ระบุว่า ใช้ติดต่อสื่อสารเรื่องทั่วไป เช่น บอกธุระ ให้มารับ-ส่ง รองลงมา ร้อยละ 57.9 ระบุว่า ใช้แสดงความรู้สึก เห็นใจซึ่งกันและกัน เช่น เขียนแสดงความคิดเห็นเวลาคนในครอบครัวโพสต์ และร้อยละ 49.9 ใช้พูดคุย แบ่งปันความสนุกสนาน เช่น แชร์คลิป โพสต์ภาพ ส่งเพลง ดูยูทูบด้วยกัน

“สิ่งที่เด็กๆ อยากบอกกับผู้ปกครองผ่านสื่อสังคมออนไลน์เนื่องในวันเด็กในปี 2564 พบว่า ร้อยละ 48.46 อยากบอกรักพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว ห่วงใย และให้รักษาสุขภาพห่างไกลโควิด-19 รองลงมา 20.54 อยากใช้พื้นที่สื่อสังคมแสดงความตั้งใจทำ สัญญากับครอบครัว เช่น ตั้งใจว่าจะเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ในขณะที่ ร้อยละ 9.16 อยากใช้พื้นที่สื่อสังคมในการระบายความในใจ หรือสิ่งที่คิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือสิ่งที่อึดอัดกับผู้ปกครอง และอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจมากขึ้น เช่น อยากให้พ่อแม่ฟังความคิดเห็น หรือปล่อยให้ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ รวมถึงอยากให้พ่อแม่เข้าใจว่าสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้มีแต่ผลเสียเท่านั้น สำหรับสิ่งที่เด็กอยากได้ในวันเด็กปี 2564 พบว่า เด็กร้อยละ 72.52 อยากให้ผู้ปกครองพาไปเที่ยว ในขณะที่ ร้อยละ 27.48 อยากได้ของขวัญวันเด็ก อยากเจอพ่อแม่ อยากกลับไปอยู่กับครอบครัว” ศ.ดร.ยุบล กล่าว