อย. เชือดกาละแมร์ พิธีกรดัง รีวิวอาหารเสริมโอ้อวดเกินจริง

7

อย. เชือด กาละแมร์ พิธีกรดัง โฆษณาโอ้อวดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริง คุยกินอาหารเสริม ทำหน้าตึง ตา 2 ชั้น จมูกเข้ารูปไม่ง้อหมอ ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยถูกดำเนินคดีแล้ว 7 คดี กรณีนี้ อย. ได้สั่งระงับโฆษณา พร้อมดำเนินมาตรการทางปกครอง และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว เตือนบุคคลสาธารณะ ทั้งดารา นักร้อง เน็ตไอดอล ให้รับผิดชอบต่อสังคม การโฆษณาใด ๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย อย่าทำให้ประชาชนเข้าใจผิด

ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏว่า พิธีกรชื่อดัง กาละแมร์- พัชรศรี เบญจมาศ ทำคลิปวีดีโอบรรยายสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “กรอบหน้าชัด เหนียงหาย หน้ายก ตาที่เคยหนังตาตกก็เป็นตา 2 ชั้น รอยขมวดคิ้วหาย ร่องแก้มตื้น จมูกเข้ารูป ย้ำอีกครั้งว่า ไม่เคยทำจมูกอะไรใด ๆ ตอนนี้กินแต่ผลิตภัณฑ์ตัวเองเท่านั้น” โดยคลิปดังกล่าวได้มีการแชร์ทางสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบพบว่า คลิปดังกล่าวเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โบเทรา ดริ้งค์ เลขสารบบอาหาร 10-1-03958-5-0229 และ โบเทรา ชอต เครื่องดื่มชนิดผง เลขสารบบอาหาร 10-1-03958-5-0233 ทางอินสตราแกรม “hipowershot” และเฟซบุ๊ก “Botera โบเทรา สวยทรงพลัง” โอ้อวดสรรพคุณว่าช่วยกระชับผิวหน้า ลดไขมันส่วนเกินบนใบหน้าเพิ่มชั้นตา อีกทั้งมีการเปรียบเทียบว่าสามารถทดแทนการศัลยกรรมได้ ซึ่ง อย.

ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงไม่มีผลิตภัณฑ์อาหารตัวใดที่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือการทำงานของร่างกายได้ตามที่กล่าวอ้าง การโฆษณาดังกล่าวเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ อย. ได้สั่งระงับการโฆษณา พร้อมดำเนินมาตรการทางปกครอง และมีหนังสือถึงตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว

ก่อนหน้านี้ อย. ได้ดำเนินคดีโฆษณากับ บริษัท พาวเวอร์ชอต จำกัด และ นางสาวพัชรศรี เบญจมาศ หรือ กาละแมร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าว ฐานโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาสรรพคุณอาหารอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร ทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และอินสตราแกรม มาแล้ว 7 คดี

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถรับประทานเพื่อเสริมจากการบริโภคอาหารตามปกติ แต่อย่าคาดหวังว่าจะมีผลในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือรักษาโรค และขอเตือนบุคคลสาธารณะทั้งหลาย ก่อนคิดจะรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ให้ข้อมูลกับผู้บริโภค เพราะตามกฎหมายระบุชัดเจนว่าผู้พูดต้องรับผิดชอบในเนื้อหาที่พูด หากพูดบรรยายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เกินไปจากความจริงหรือโอ้อวดสรรพคุณทำให้หลงเชื่อหรือคล้อยตาม ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินคดีไปแล้วหลายราย หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดเกินจริงหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจาก การบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ