ดีเดย์! 29 ม.ค. 64 ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปขออนุญาตปลูกกัญชงได้ทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ การค้า การแพทย์ การศึกษาวิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง และนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผู้ที่ต้องการขออนุญาตปลูก หากสถานที่ปลูกอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอที่ อย. หากอยู่ที่ต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอที่ สสจ. ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง ให้ยื่นคำขอที่ อย.
ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชง (Hemp) เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 29 มกราคม 2564 นี้ ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตปลูกได้ทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ การค้า การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง ซึ่งสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ช่อดอกนำไปผลิตยา สารสกัดจากกัญชง, ใบนำไปผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง, น้ำมันจากเมล็ดกัญชงนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง, สารสกัดจากกัญชงนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ภายใต้กฎกระทรวงฉบับนี้สามารถขออนุญาตส่งออกกัญชงได้ และภายใน 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ สามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาปลูกได้อีกเช่นกัน โดยผู้ที่ต้องการขออนุญาตให้ยื่นคำขอ ณ สถานที่ปลูกที่ตั้งอยู่ หากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนผู้ขอนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง ให้ยื่นคำขอที่ อย.
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 อย. จะจัดอบรมทางออนไลน์ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชง ในเรื่องกฎหมาย การยื่นคำขออนุญาตเกี่ยวกับกัญชง และการขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชง ผู้ที่สนใจสามารถรับชมทาง Facebook Live FDAThai หรือสอบถามรายะเอียดเพิ่มเติมที่เบอร์ 0-2590-7771-3