กระทรวง อว. ชูนโยบายนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จริง โชว์ผลงานวิจัย “Space Walker” นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ลดการนำเข้าและยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์ เทียบเคียงเครื่องราคาหลักล้าน ผลิตได้ในหลักหมื่น
ผศ.ดร. ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของกระทรวง อว. คือ การวางรากฐานในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการมุ่งเน้นให้นำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ด้วยการแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ส่งผลให้เกิดการสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) โดยเปลี่ยนจาก “Made in Thailand” เป็น “Innovated in Thailand” เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน และในปี 2564 นี้ กระทรวง อว. ยังได้มุ่งเน้นในการสร้างคนควบคู่ไปกับการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีองค์ความรู้และดำเนินธุรกิจบนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเปลี่ยนนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 – 4 ปีที่ผ่านมา TED Fund ได้สนับสนุนเงินทุนไปแล้วจำนวน 259 โครงการ ในวงเงินงบประมาณรวมกว่า 360 ล้านบาท สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 650 ล้านบาท นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของประเทศไทย ในการที่จะสร้างฐานนักรบเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาให้สามารถแข่งขันในตลาดระดับโลก และกระทรวง อว. โดย TED Fund จะเร่งสปีดในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการกำหนดเป้าหมายเชิงรุก โดยตั้งเป้าสนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการกว่า 300 โครงการในปี 2564
โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาและเป็นนักศึกษาซึ่งมีสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างการศึกษาในสถาบันการศึกษา ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก หรือจบการศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี พร้อมทั้งเป็นสมาชิกของเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ที่ได้รับการรับรองจาก TED Fund ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 32 แห่งทั่วประเทศ
นายวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร บริษัท เมดิคิวบ์ จำกัด หนึ่งในผู้ที่ได้รับทุนวิจัยจาก TED Fund ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ “Space Walker” อุปกรณ์ฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยกายภาพบำบัด กล่าวว่า ได้นำงานวิจัยของตัวเองจากทำวิทยานิพนธ์ ของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการออกแบบโครงช่วยฝึกเดินที่มีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วนสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวด้านการเดิน โดยทุนสนับสนุนจาก TED Fund ได้เข้ามาช่วยใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- สนับสนุนการวิจัยสร้างอุปกรณ์ต้นแบบอุตสาหกรรม : ออกแบบและพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ฝึกเดิน และทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรม
- จัดทำโรงงานมาตรฐานในการผลิตเครื่องมือแพทย์ : ช่วยเหลือและสนับสนุนในการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในการขอรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ IEC 60601-1 Series และ 3. ที่ปรึกษาด้านการตลาด : ช่วยเหลือและสนับสนุนในการวางแผนธุรกิจ การวิเคราะห์ตลาด เพื่อพัฒนาธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์สามารถแข่งขันในตลาดได้จริง โดยล่าสุดมีแผนที่จะต่อยอดด้วยการสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ “WOKA” อีกด้วย
ซึ่งจากการสนับสนุนดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันนวัตกรรม “Space Walker” อุปกรณ์ฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยกายภาพบำบัด มีคุณภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยราคาอุปกรณ์กายภาพบำบัดของต่างประเทศที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกันมีราคาสูงถึง 5 ล้านบาท แต่ลักษณะการทำงานไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานในบ้านเรา โดยบริษัทสามารถผลิตได้ในราคาประมาณ 6 หมื่นบาทเท่านั้น และออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในงานในบ้านเรา ซึ่งเป็นลักษณะของการฝึกที่บ้าน เพราะเรามองว่าการกายภาพบำบัดต้องมีความต่อเนื่อง หรือทำเป็นประจำทุกวัน โดยปัจจุบันได้ผลิตและจำหน่ายไปยัง 60 สถานพยาบาลทั่วประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทำให้ประชาชนในต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ส่งออกผลต่อการยืน/เดิน และ กายภาพบําบัดในผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพาตครึ่งท่อน พาร์กินสัน เป็นต้น
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครทุนได้ที่ www.tedfund.mhesi.go.th หรือเพจ Facebook : TED Fund หรือโทร 02 333 3700 ต่อ 4072-4074