สสส. ชวน กินผักผลไม้ สู้ โควิด-19 ระลอกใหม่

64

สสส. ชวน กินผักผลไม้ สู้ โควิด-19 ระลอกใหม่ สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพ ชู “ผลักดันให้ผักนำ” เครือข่ายคนไทยไร้พุง แนะ กินสุกี้-ชาบู ยึดหลัก “ต้มสุก ตักแยก แทรกผัก” รับมือทุกสถานการณ์

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โควิด-19 ระลอกใหม่ ยิ่งตอกย้ำให้ทุกคนหันมายกระดับสู้โควิด สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพให้ตัวเอง เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสชนิดนี้ไปด้วยกัน ในปี 2564 สหประชาชาติประกาศให้เป็น “ปีแห่งการบริโภคผักผลไม้สากล” หรือ International Year of Fruits and Vegetables เพื่อยกระดับให้การส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้เป็นประเด็นระดับโลก ขณะที่ข้อมูลจากโครงการสวนผักคนเมืองพบว่ากลุ่มคนเมืองมีแนวโน้มกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนความมั่นคงทางอาหารและการกระจายอาหารช่วงโควิด-19 เป็นอย่างดี เพราะ ในภาวะปกติมีเครือข่ายผู้บริโภคเขตเมือง 1,500 คน เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิต 800 ราย ขณะที่ช่วงโควิด-19 พบเครือข่ายผู้บริโภคเขตเมือง 10,000 คน เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิต 965 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

“การที่ประเทศไทยมีไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้เห็นว่านโยบายระดับชาติต้องให้ความสำคัญกับอาหารและโภชนาการ เพราะจะเป็นกลไกลสำคัญที่ทำให้ร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันสู้โควิด-19 และยังช่วยลดอัตราผู้ป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เพิ่มขึ้นอีกด้วย มีข้อมูลยืนยันว่าการกินผักและผลไม้อย่างเพียงพอ ช่วยลดความเสี่ยงและการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ และโรคมะเร็งบางชนิด รวมทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพได้ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนกินและทำอาหารปรุงสุก ยึดหลักผลักดันให้ผักนำ กินร้อน ช้อนตัวเอง การ์ดไม่ตก สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่างทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านและกลับเข้ามาในบ้าน มาร่วมกันป้องกันสุขภาพคนไทยสูภัยโควิดด้วยกัน” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกคนมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการกินอาหารประเภทสุกี้ชาบู ที่มักจะมีการรวมกลุ่มกินกันหลายคนและต้องกินให้อิ่ม ให้คุ้ม จนอาจทำให้คนที่กินได้รับสารอาหารไม่สมดุล ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะสั้น คือ ไม่สบายท้อง ระบบลำไส้ย่อยยาก มีปัญหาในกระเพาะอาหาร และเมื่อรับประทานติดต่อกันระยะยาว อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมไขมัน คอเรสเตอรอลสูง ในช่วงโควิด-19 จึงอยากแนะนำให้ทุกคนที่ชื่นชอบอาหารประเภทนี้ หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกายและใจมากขึ้น ยึดหลัก Personal Distancing “ต้มสุก ตักแยก แทรกผัก” คือ ต้มส่วนผสมต่าง ๆ ในน้ำซุปให้สุก ใช้ทัพพีส่วนตัวตักแยกเนื้อสัตว์ ผัก น้ำซุป ใส่ชามแยกของใครของมัน และการกินต้องตัดผักสลับกับการกินเนื้อสัตว์ เพื่อความสมดุลของโภชนาการ ควบคู่กับการลดความเสี่ยงติดโรคระบาด และป้องกันโรคติดต่อไม่เรื้อรัง หรือ NCDs เพื่อชีวิตวิถีใหม่ที่มีสุขภาวะ

“การกินอาหารประเภทชาบู หมูกระทะ หรือสุกี้ ให้มีประโยชน์ คนสั่งจะต้องคำนึงเรื่องวัตถุดิบให้ครบถ้วน ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก เพื่อร่างกายจะได้รับสารอาหารที่หลากหลาย เนื้อสัตว์ควรเลือก หมู ไก่ ปลา กุ้ง ไข่ ผสมกันเพื่อให้ได้รับแร่ธาตุ วิตามิน และปริมาณไขมันที่สมดุล หากใครชอบเนื้อติดมันก็ควรบริโภคแต่พอควรไม่มากจนเกินไป ทุกมื้อต้องไม่เน้นกินผักหรือเนื้อสัตว์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถ้ากินเนื้อสัตว์มากเกินไป อาจทำให้นอนหลับยากจากการที่กระเพาะอาหารมีปัญหา ที่สำคัญน้ำซุปและน้ำจิ้มหากเป็นไปได้ควรทำเอง เลี่ยงการใช้ของสำเร็จรูปเพื่อลดปริมาณโซเดียมเข้าร่างกาย หากทำได้นอกจากจะสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ยังเป็นการรักษาสุขภาพตัวเองในระยะสั้นและระยะยาวด้วย” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว