สธ.ติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศ และเฝ้าระวังเข้ม

4
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด WHO รายงานการระบาดในประเทศดีอาร์ คองโก และประเทศกินี  เผยปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยโรคดังกล่าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นทั้ง 3 ระดับ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศที่ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งใหม่ในสองประเทศแถบแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DR Congo) และประเทศกินี ซึ่งการระบาดครั้งนี้พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยไม่มาก แต่ทางองค์การอนามัยโลกได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของทั้งสองประเทศเพื่อควบคุมและยุติการระบาดในครั้งนี้

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วยที่สงสัยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาตามระบบที่วางไว้อย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ 1.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ  2.โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน และ 3.ในระดับชุมชน โดยเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในทุกๆ ช่องทางเข้า-ออก ทั้งที่ด่านสนามบิน ด่านท่าเรือ และด่านชายแดน    หากพบผู้เดินทางมีอาการคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะรับเข้าดูแลในโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนด

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป มีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรค  2.หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง ค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร และ 3.สำหรับประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศ ขอให้ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยหมั่นล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารที่สุก ร้อน สะอาด และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค  อาการสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้แก่ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค