สวพส. เผยการวิจัยและพัฒนาการปลูกกัญชงพืชเศรษฐกิจทางเลือก

10

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เผยข้อมูลการวิจัยและพัฒนากัญชงหรือ เฮมพ์ พร้อมผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ของเกษตรกร ซึ่งจากผลการวิจัยขณะนี้สามารถพัฒนาพันธุ์เฮมพ์ 4 พันธุ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร

คือ RPF1 , RPF2 , RPF3 และ RPF4 ซึ่งเป็นพันธุ์สำหรับผลิตเส้นใยโดยมีเปอร์เซ็นต์เส้นใย 12-14.7% ปริมาณสารที่เป็นประโยชน์ CBD 0.8-1.2% และมีปริมาณสารเสพติด THC ต่ำกว่า 0.3% และคาดว่าจะได้สายพันธุ์ใหม่ ๆ เพิ่มอีก 5 พันธุ์ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณและคุณภาพของเมล็ด รวมทั้งการกำหนดราคาและแนวทางการบริหารจัดการ โดยคาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้ประมาณเดือนเมษายน 2564

วิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาการเพาะปลูกกัญชงอย่างจริงจังในประเทศไทย ความว่า “สมควรศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกกัญชง เพื่อใช้เส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่มและจำหน่ายเป็นรายได้” คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและพิจารณาแนวทางการส่งเสริม และการควบคุมดูแลการปลูกกัญชง

วิรัตน์ ปราบทุกข์

จากนั้น สศช. จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และมูลนิธิโครงการหลวง เริ่มดำเนินการวิจัยและพัฒนากัญชงอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 โดยต่อมาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงฉบับที่ 1 พ.ศ. 2552 -2556 และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553 – 2557) และแผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ 5 จังหวัด เชียงใหม่ น่าน เชียงราย ตาก และเพชรบูรณ์

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนากัญชง มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 จนกระทั้งปัจจุบัน โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การพัฒนาพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป การตลาด และสนับสนุนการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่ถูกต้องตามกฏหมาย

โดยระยะแรกมุ่งการใช้ประโยชน์ด้านเส้นใย และต่อมาได้ขยายการวิจัยและพัฒนาด้านสาร CBD เมล็ด และส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งผลการวิจัยสามารถพัฒนาพันธุ์เฮมพ์ 4 พันธุ์ และได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร คือ RPF1 , RPF2 , RPF3 และ RPF4  ซึ่งเป็นพันธุ์สำหรับผลิตเส้นใยโดยมีเปอร์เซ็นต์เส้นใย 12-14.7% ปริมาณสารที่เป็นประโยชน์ CBD 0.8-1.2% และมีปริมาณสารเสพติด THC ต่ำกว่า 0.3% รวมทั้งเมล็ดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถผลิตเพื่อการบริโภคได้และคาดว่าจะได้สายพันธุ์ใหม่ ๆ เพิ่มอีก 5 พันธุ์ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ระบบการปลูกภายใต้การควบคุมตามกฎหมาย รวมทั้งการแปรรูปเส้นใยเฮมพ์ และส่วนอื่น ๆ ของเฮมพ์ ส่งผลให้มีการแก้ไขกฎหมายและข้อกำหนด/ระเบียบต่าง ๆ ให้สามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้

จากการแก้กฎหมายและข้อกำหนด/ระเบียบ ฉบับที่สำคัญคือ“กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563” และ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563”  ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564  ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง รวมทั้งกำหนดให้ส่วนของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ ใบ เมล็ด (seed และ grain) ราก ลำต้น และสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.3% ทำให้กัญชงมีโอกาสที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร และขณะนี้มีเกษตรกร เอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ จำนวนมากต้องการเมล็ดและส่วนประกอบต่าง ๆ ของเฮมพ์จาก สวพส. ทั้งเพื่อการปลูกและการศึกษาวิจัย

สวพส. จึงได้กำหนดแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกและพัฒนาการผลิตกัญชงโดย 1) จัดหาเมล็ดและส่วนต่าง ๆ ของกัญชงที่ไม่จัดเป็นพืชเสพติด สำหรับจำหน่ายแก่เกษตรกรที่ได้รับการอนุญาตปลูก โดยเมล็ดพันธุ์พันธุ์รับรองสำหรับฤดูการผลิตปี 2564 ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ค่อนข้างมีจำนวนจำกัดเนื่องจากไม่ได้มีการผลิตสำรองไว้ในปีที่ผ่านมา ก่อนกฏหมายอนุญาต ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณและคุณภาพของเมล็ด รวมทั้งการกำหนดราคาและแนวทางการบริหารจัดการ โดยคาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้ประมาณเดือนเมษายน 2564 และ 2.) ในฤดูการผลิต 2565-2566 ได้วางแผนส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปลูกเฮมพ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ และส่วนประกอบของเฮมพ์ที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดจำหน่าย โดยจะเริ่มรับแผนความต้องการจากผู้สนใจในเดือน เมษายน 2564

jhu=] “ด้วยคุณสมบัติอันหลากหลายของกัญชงหรือเฮมพ์ที่มีความยืดหยุ่น ทนทาน แข็งแรง ให้เส้นใยที่ยาว นำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น เปลือก/เส้นใยทำผลิตภัณฑ์สิ่งทอ แกนลำต้นทำวัสดุก่อสร้าง เมล็ดมีคุณค่าทางโภชนาการสูงทำผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง และใบสามารถสกัดทำเป็นยารักษาโรค ทำให้มีการใช้ประโยชน์กันมานานและมีการวิจัยและพัฒนามากมาย

โดย สวพส. พร้อมเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูล การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และขั้นตอนการปลูกให้แก่เกษตรกร บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หน่วยราชการ วิสาหกิจชุมชนหรือภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อให้สามารถนำไปสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต โดยสามารถติดตามข่าวสารต่าง ๆ ของ สถาบันฯ ผ่านเว็บไซต์ https://www.hrdi.or.th/ หรือ Facebook Fanpage : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ” วิรัตน์ กล่าวส่งท้าย