ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ปกคลุมและพบค่าฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ รวมถึงระบบผิวหนัง ซึ่งเป็นเป็นอวัยวะที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมและมลภาวะตลอดเวลา ทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบและระคายเคือง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนัง
ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต วิชยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี กล่าวว่า “โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ Atopic Dermatitis (AD) เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่พบบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ในคนไทย โดยส่วนมากพบในทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี รองลงมาคือเด็กโต อายุระหว่าง 2-12 ปี และในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งพบได้บ้าง แต่ไม่บ่อยนัก
โดยกลไกในการเกิดโรคเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของผิวหนัง อาทิ ผิวแห้ง ลอกเป็นขุย มีอาการคัน ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยด้านพันธุกรรมร่วมกับการมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบ อาทิ สารแพ้ต่างๆ สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ภาวะอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัด การติดเชื้อที่ผิวหนัง การแพ้อาหารบางชนิด รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งผู้ป่วยที่สัมผัสกับฝุ่นละอองเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบให้อาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบขึ้นได้ ได้แก่ เกิดอาการคัน แสบร้อนบริเวณผิวหนัง มีตุ่มแดงเกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้เกิดการเกา ซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบที่มากขึ้น เช่น เป็นแผล และมีน้ำเหลืองซึม”
สำหรับการการดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบในช่วงภาวะฝุ่น PM 2.5 ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต ได้แนะนำว่า ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืองดเว้นการออกไปในบริเวณที่มีมลพิษในปริมาณมาก เพื่อเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นโดยตรง หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ให้คอยตรวจเช็คค่าฝุ่น และใช้เวลาสัมผัสกับฝุ่นให้สั้นที่สุด เมื่อกลับถึงบ้านให้รีบอาบน้ำทันที และทาโลชั่นหรือมอยซ์เจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง แต่หากมีอาการอักเสบรุนแรง ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากเกิดกับผู้ป่วยเด็กเมื่อโตขึ้น อาการจะดีขึ้น ส่วนใหญ่จะหายได้ และสามารถควบคุมการกำเริบของโรคได้ ดังนั้น เป้าหมายของการรักษาโรคนี้จึงอยู่ที่ การพยายามควบคุมอาการของโรคและให้อยู่ในช่วงสงบนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยแนวทางการรักษา ได้แก่ การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ การทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง ป้องกันผิวแห้ง และใช้ยาทาลดอาการอักเสบเฉพาะเมื่อมีการอักเสบที่ผิวหนังเท่านั้น
เมื่อควบคุมอาการได้ควรลดการใช้ยาหรือหยุดยาตามคำแนะนำของแพทย์ ในรายที่มีผื่นขึ้นมากและอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน และในปัจจุบันมีการรักษาโดยยาฉีดกลุ่มชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งความก้าวหน้าของแนวทางการรักษา โดยจะเลือกใช้ในรายที่มีอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่น ทั้งนี้ควรอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิด