การแก้ไขปัญหาสายตายาวด้วยเฟมโตเลสิก เพรสบียอน FemtoLASIK Presbyond (เดิมเรียก LBV: Laser Blended Vision) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสายตายาว สั้น เอียง โดยไม่ต้องพึ่งแว่นสายตา เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นดียิ่งขึ้น ดังนั้น การตรวจรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาสายตายาวจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ดวงตาเพียงคู่เดียวของเรา ใช้งานต่อไปได้ในระยะยาว
พญ.ฐิดานันท์ รัตนธรรม จักษุแพทย์ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาสายตายาว มี 2 แบบคือ 1.สายตายาวโดยกำเนิด เป็นอาการผิดปกติทางสายตาที่มีผลจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม สาเหตุเกิดจากกระจกตาแบนเกินไปหรือขนาดของลูกตาสั้นเกินไปเมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา ทำให้การรวมแสงตกหลังจอประสาทตาเลยจุดรับภาพ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดหรืออาจเห็นไม่ชัดทั้งระยะใกล้และไกล 2.สายตายาวตามอายุ(สายตาสูงอายุ) กรณีนี้เป็นไปตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น มักเกิดในคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป สาเหตุเกิดจากการเลนส์แก้วตาที่แข็งขึ้น ความยืดหยุ่นน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อรอบดวงตาอ่อนล้าลง ทำให้เลนส์แก้วตาไม่สามารถปรับตัวให้พองขึ้นหรือแบนลงเพื่อช่วยในการโฟกัสภาพได้เหมือนเดิม ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ
สายตายาวที่เกิดขึ้นหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้กิจกรรมหรืองานที่ต้องการทำได้อย่างไม่เต็มที่ ความสุขในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง ดังนั้น การพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสอบอาการและตรวจสายตาเป็นสิ่งจำเป็น โดยจักษุแพทย์จะแนะนำวิธีการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนไข้แต่ละคน ดังนี้ 1. ใส่แว่นตา สำหรับคนสายตายาว มองใกล้ไม่ชัด อาจใส่แว่นสำหรับสายตายาวระยะเดียว เพื่อช่วยสำหรับการมองระยะใกล้ เช่น การอ่านหนังสือ แต่ว่าชีวิตประจำวันโดยทั่วไปมักมีการมองทั้งในระยะใกล้-ไกล สลับกันตามกิจกรรม ทำให้ผู้มีสายตายาวมักมีปัญหากับการต้องใส่ๆ ถอดๆ แว่น แก้โดยการใส่แว่นสายตาชนิดมองเห็นหลายระยะ หรือ Progressive lens เพื่อการมองเห็นชัดทั้ง 2 ระยะคือมองไกลและมองใกล้
- การใช้เทคโนโลยีแก้ไขปัญหาสายตายาวตามอายุโดยไม่ต้องพึ่งพาการใส่แว่นตา ประกอบด้วย 1) Near Vision CK การใช้คลื่นวิทยุแทนเลเซอร์ เพื่อให้ความร้อนเป็นจุดเล็ก ๆ ส่งผ่านไปยังบริเวณเนื้อเยื่อกระจกตาและทำให้กระจกตาโค้งนูนขึ้น แต่มีข้อเสียคือ ผลการรักษาอยู่ไม่ถาวรประมาณ 1- 2 ปี ผลของการรักษาก็จะคลายหายไป 2) Near Vision (Monovision) การรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จะทำการแก้ไขสายตาด้วยแสงเลเซอร์ให้ตาข้างที่ถนัดให้สามารถมองเห็นในระยะไกลชัดขึ้น ส่วนตาข้างที่ไม่ถนัดจะแก้ไขให้เหลือสายตาสั้นไว้เล็กน้อย เพื่อใช้ในการมองเห็นระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่เนื่องจากวิธีนี้ทำให้ค่าสายตาสองข้างที่ต่างกันมาก คนไข้อาจปรับการมองเห็น โดยการใช้สายตาข้างมองร่วมกันได้ลำบาก
3) Scleral expansion คือ การผ่าตัดเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อวงแหวนตาเกิดการหดตัว ช่วยให้การมองใกล้ชัดขึ้น แต่วิธีนี้ผลที่ได้ก็อยู่ไม่นาน และบอกได้ยากว่าจะได้ผลแค่ไหนในแต่ละคน และ 4) การทำเลสิกโดยใช้เลเซอร์เฟมโตเลสิก เพรสบียอน FemtoLASIK Presbyond เป็นการแก้ไขปัญหาสายตายาวตามอายุ สายตาสั้น สายตาเอียง ได้พร้อมกันในคนเดียวด้วยเทคโนโลยีเลสิกไร้ใบมีด(เลเซอร์ทุกขั้นตอน) โดยการเกลากระจกตาให้โค้งมากขึ้นและความยาวโฟกัสมากขึ้น(Depth of focus) คุณสมบัติเด่นของวิธีนี้ คือ ช่วยให้คนไข้สามารถมองเห็นทั้งระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกลได้ชัดเจนในตาเดียวกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นให้ดีขึ้น
ทั้งนี้การทำเฟมโตเลสิก เพรสบียอน (FemtoLASIK Presbyond) ในสายตายาวตามอายุ จะไม่สามารถแก้ไขให้เลนส์แก้วตาที่แข็งขึ้นตามอายุให้อ่อนนุ่มลง ไม่สามารถแก้ไขให้กล้ามเนื้อตาที่อ่อนล้าลงกลับมาทำงานได้ดีเท่าตอนอายุยังน้อย แต่เลเซอร์จะไปช่วยแก้ไขกระจกตาให้มีความโค้งเพิ่มขึ้นได้ เพื่อการมองใกล้ได้ชัดขึ้นแต่การมองไกลอาจไม่ชัดที่สุด ซึ่งการรักษาในรูปแบบนี้จะคงประสิทธิภาพได้ประมาณ 7-8 ปี ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตาและเลนส์แก้วตาของคนไข้แต่ละคน
การรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จะทำการตรวจสภาพดวงตาและให้คนไข้ได้ลองเลนส์(trial lens)เพื่อให้คนไข้ได้ทราบก่อนว่าหากทำแล้วระยะการมองชัดใกล้และไกลจะเป็นในลักษณะใด ซึ่งการรักษาแต่ละวิธีควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมกับสภาพดวงตา และการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน
แม้สายตายาวไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีวิธีที่จะช่วยปกป้องดวงตาและการมองเห็นของเราได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ 1.สูตรพักสายตา 20:20:20 หลังทำงานไปแล้ว 20 นาที ลองพักสายตาด้วยการมองไกลออกไป 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที เพื่อถนอมดวงตาและยังช่วยป้องกันอาการตาล้า ตามัว ตาแห้ง ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สายตามากเกินไปได้ 2.ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ 3.เลือกแว่นสายตาที่เหมาะสมกับตนเอง 4.หมั่นสังเกตความผิดปกติของดวงตา อาทิ ตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นไม่ชัด ตามัว เห็นจุดดำ เห็นเป็นรังสีหรือรุ้งรอบๆ ดวงไฟ เป็นต้น หากพบอาการต่าง ๆ ควรพบแพทย์
5.สวมแว่นกันแดด เมื่ออยู่กลางแจ้งหรือต้องสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน 6.รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพดวงตา เช่น ผักโขม ผักคะน้า แครอท แคนตาลูป 7. ในการอ่านหนังสือ ควรเปิดไฟ หรืออ่านในที่แสงสว่างพอเหมาะ เพื่อช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น ไม่ต้องเพ่งตามากจนเกินไป เป็นต้น