นักวิชาการชี้ ถึงเวลาสังคยานาโครงสร้างภาษีบุหรี่

16
รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม

นักวิชาการชี้ ถึงเวลาสังคยานาโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ต้องให้ภาคสุขภาพมีส่วนร่วม แนะเร่งออกกฎคุมราคาขายปลีกขั้นต่ำ ไม่เปิดช่องให้บุหรี่ลดราคา เหตุทำรัฐเสียหายนับหมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า การขึ้นภาษียาสูบดำเนินการโดยกรมสรรพสามิตเพียงหน่วยงานเดียว ส่งผลกระทบคือ หลังจากการขึ้นภาษีบุหรี่เมื่อปี 2560 ได้กำหนดอัตราภาษีบุหรี่เป็น 2 อัตรา โดยบุหรี่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท เสียภาษีร้อยละ 20 ส่วนบุหรี่ที่ราคาเกินซองละ 60 บาท เสียภาษีร้อยละ 40 ส่งผลให้บุหรี่ไทยมีราคาสูงขึ้นและขายได้น้อยลง แต่บุหรี่ต่างประเทศราคาถูกลงและขายได้มากขึ้น จึงขอกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีได้ทราบความจริงข้อนี้ และได้โปรดสั่งการให้ฝ่ายสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคมที่มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาภาษีบุหรี่ด้วย เพื่อประสิทธิภาพการควบคุมยาสูบของประเทศ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้เคยเสนอว่า การขึ้นราคาบุหรี่มีประสิทธิภาพสูงในการลดความต้องการบริโภค ราคาบุหรี่ที่สูงขึ้นช่วยหยุดและป้องกันการเริ่มใช้ยาสูบได้ และช่วยลดการบริโภคในกลุ่มผู้สูบต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วการเพิ่มราคาบุหรี่ ร้อยละ 10 จะลดความต้องการสูบบุหรี่ได้ประมาณ ร้อยละ 4 ในประเทศที่มีรายได้สูง และประมาณร้อยละ 5 ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า บุหรี่เป็นสินค้าอันตราย สามารถฆ่าคนได้ รัฐจึงต้องแทรกแซงให้มีราคาสูงขึ้น เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเข้าถึงได้ง่าย อย่างบุหรี่นอกที่เดิมขายซองละ 70-72 บาทนั้น ก็ควรจะต้องเสียภาษีที่ร้อยละ 40 ของราคาขายปลีกแนะนำ ไม่ใช่ปล่อยให้ราคาลดลงเหลือ 60 บาท ทำให้เสียภาษีสรรพสามิตลดลงเหลือร้อยละ 20 คือลดลงถึงซองละเกือบ 10 บาท ขณะที่บุหรี่ไทยมีราคาสูงขึ้นและเสียภาษีต่อซองเพิ่มขึ้นทุกยี่ห้อ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่รัฐวิสาหกิจยาสูบและชาวไร่ยาสูบได้รับผลกระทบหนักจากการรับซื้อใบยาสูบที่ลดลง เพราะคนหันไปซื้อบุหรี่นอก กรมสรรพสามิตอ้างว่ากำหนดอัตราภาษีเพื่อลดการเข้าถึงของประชาชนกรณีสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่กลับใช้มาตรการภาษีปล่อยให้บุหรี่ลดราคา ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของเด็กซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต

“การปล่อยให้บุหรี่ลดราคานอกจากจะขัดกับหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังขัดกับการชี้แนะของธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกด้วย ในเมื่อบุหรี่เป็นสินค้าอันตราย การปรับโครงสร้างภาษีจะต้องไม่ทำให้ราคาจำหน่ายบุหรี่ลดลงเด็ดขาด ทั้งนี้ 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศเสียค่าโง่ แล้วนับหมื่นล้านบาท จึงควรกลับไปทบทวนเรื่องราคาและภาษีบุหรี่กันใหม่ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว

ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และกรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงการพิจารณาและประกาศกำหนดราคาขายปลีกแนะนำ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ผู้นำเข้าบุหรี่บางรายปรับลดราคาขายปลีกแนะนำลง เพื่อที่จะเสียภาษีในอัตราต่ำคือ ร้อยละ 20 ทำให้ประชาชนเข้าถึงบุหรี่นำเข้าได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชน ดังนั้นกรมสรรพสามิต ควรพิจารณาแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยจัดทำเกณฑ์กำหนดราคาขายปลีกแนะนำเป็นการเฉพาะกรณียาสูบไม่ปะปนกับสินค้าอื่นและใช้อัตราเดียว มีกลไกตรวจสอบข้อมูลราคาขายปลีกแนะนำ และกำหนดภาษีตามปริมาณคิดจากราคาขั้นต่ำของบุหรี่ต่อซองเป็นหลัก เพื่อป้องกันปัญหาการเลี่ยงภาษีจนทำให้ภาครัฐเสียหาย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 – 2563 รัฐมีรายได้นำส่งแผ่นดินลดลงมากกว่า 10,000 – 21,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนปี 2560

ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษามูลค่าต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากพฤติกรรมสูบบุหรี่ของประชากรในประเทศไทยและต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากการได้รับควันบุหรี่มือสองจากบุคคลที่อาศัยในครัวเรือนเดียวกัน ปี 2560 พบว่า ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์รวมที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการสูบบุหรี่มีมูลค่าสูงถึง 101,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.65 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) หรือร้อยละ 17.41 ของมูลค่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสุขภาพในประเทศ (CHE) หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,900 บาทต่อประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 1 คน และเท่ากับ 9,900 บาทต่อนักสูบในปัจจุบัน 1 คน ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ กว่าร้อยละ 80 ของต้นทุนดังกล่าวเกิดกับกลุ่มผู้หญิงที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่อาศัยอยู่กับคนที่สูบบุหรี่ในบ้าน เมื่อเทียบกับรายได้จากภาษียาสูบที่รายงานโดยกระทรวงการคลัง มีมูลค่า 68,603 ล้านบาท ในปี 2560 และรายได้ที่นำส่งโดยโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มีมูลค่า 8,927 ล้านบาท ในปี 2557 มูลค่าความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่น่าจะมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าผลประโยชน์ที่รัฐได้รับอย่างชัดเจน

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การที่กรมสรรพสามิตออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 โดยไม่มีการบัญญัติให้คงราคาเดิมหรืออย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าราคาเดิมไว้ก่อนบังคับใช้ ส่งผลให้ราคาบุหรี่นำเข้าสามารถลดราคาได้จึงสมควรให้มีการย้อนหลังกลับไปกำหนดห้ามลดราคาและใช้ราคาบุหรี่เดิมก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ซึ่งสอดคล้องไปกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยลงร่วมลงนามไว้ ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตย” ในการออกมาตรการทางด้านราคาและภาษีเพื่อการควบคุมการบริโภค และเป็นการปกป้องผลประโยชน์ในเรื่องรายได้ของรัฐ