สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยความท้าทายในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวสู่โลกดิจิทัล ระดมคลังข้อมูลเพื่อการวางแผนพัฒนาประชาชน ปั้น GD Catalog บูรณาการใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกัน “วันเพ็ญ พูลวงษ์” เผยพลังแห่งความทุ่มเท มุ่งมั่นด้วยใจ เพื่อเป้าหมายยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทย ย้ำ! ไม่ใช่เรื่องห่างไกล เพราะสถิติเป็นเรื่องของทุกคน
นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์” ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งผลส่งผลกระทบต่อการลงพื้นที่เก็บข้อมูล สสช. จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและทบทวนวิธีการทำสำมะโนในรูปแบบใหม่ โดยจัดให้มีการศึกษา ‘โครงการการศึกษาและพัฒนาต้นแบบการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะจากฐานข้อมูลทะเบียน หรือ Register-based Census’ ถือเป็นโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบ กรอบแนวคิด และวิธีการทำสำมะโน โดยใช้ฐานข้อมูลทะเบียนเสริมวิธีการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ เพื่อให้ได้ข้อมูล ที่ถูกต้อง ครบถ้วน และครอบคลุมประชากรของประเทศ
Register-based Census ดำเนินการใน 3 จังหวัดซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีราชาและอำเภอพนัสนิคม เป็นการเก็บข้อมูลจากประชากรทุกคนตามที่อยู่อาศัยจริง ณ วันที่กำหนด โดยใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งได้ดำเนินการระหว่างเดือนธันวาคม 2563 – เดือนมีนาคม 2564
ไม่นานนี้ สสช. ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ชุมชนหนองขาม อำเภอศรีราชา ติดตาม “คุณมาดี” เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในพื้นที่ต้นแบบเขต EEC เพื่อศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนและพัฒนาการทำสำมะโนประชากรและเคหะโดยใช้ฐานข้อมูลทะเบียนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พร้อมเผยทิศทางการดำเนินงานพร้อมนำองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ “นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์” ผอ.สสช. ได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ สสช. พร้อมด้วยก้าวต่อไปที่น่าจับตามอง จากหน่วยงานที่เปรียบเสมือน คลังข้อมูลอันเป็นขุมทรัพย์ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ
รู้จักบทบาทของ สสช.
“สำนักงานสถิติแห่งชาติกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภารกิจหลักในการสำรวจข้อมูลของ สสช. แบ่งออกเป็น 2 ด้านหลัก คือ ด้านเศรษฐกิจ เช่น เรื่องของการสำรวจสถานประกอบการ อุตสาหกรรม ธุรกิจต่างๆ ว่ามีประเภทใด จำนวนคนทำงานเท่าไหร่ ด้านสังคม เช่น การสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรว่ามีการทำงานหรือมีการว่างงานจำนวนเท่าไหร่ รายได้ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือน ข้อมูลด้าน สุขภาพ เป็นต้น
โดยในแต่ละปี สสช.ดำเนินการสำรวจเฉลี่ย 20 กว่าโครงการ บางโครงการทำทุกปี บางโครงการทำทุกเดือน หรือทุกสามหรือห้าปี ขึ้นอยู่กับลักษณะข้อมูลว่า มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนั้น ยังมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค โครงการคนละครึ่ง โดยสำรวจว่าประชาชนเข้าใจ รับรู้มากน้อยแค่ไหน มีความพึงพอใจและต้องการให้รัฐบาลแก้ไขอย่างไร”
ประชาชนได้อะไรจากข้อมูลด้านสถิติ
“การตัดสินใจในการกำหนดนโยบายใดๆ ของภาครัฐต้องอาศัยข้อมูล จุดกำเนิดของข้อมูลก็คือประชาชน การวางแผนนโยบาย คือการกำหนดนโยบายให้คืนสู่ประชาชน ในรูปแบบสวัสดิการต่างๆ ถ้าต้นน้ำ คือ ประชาชน ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริงและนำเสนอสู่ผู้กำหนดนโยบาย ก็จะทำให้นโยบายนั้นๆ ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง สถิติจึงมีความสำคัญกับประชาชนอย่างมาก”
ปั้น GD Catalog สมุดหน้าเหลืองของเมืองไทย
“ในส่วนของภารกิจการบริหารจัดการทางด้านสถิติ สนช. เป็นหน่วยกลางทางด้านสถิติ มีหน้าที่ทำให้เกิดการการบูรณาการในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาทุกกระทรวงต่างมีข้อมูลของตัวเอง เช่น ทะเบียนเกษตรกร ของกระทรวงเกษตรฯ ต้องรู้ว่ามีข้อมูลอะไรอยู่ที่ไหน ในรูปแบบใด คำจำกัดความว่าอย่างไร หากมีข้อมูลใดอยู่แล้วก็ไม่ควรจะไปทำเพิ่ม หรือ เรื่องใดที่ยังต้องการเติมเต็ม เช่น ทะเบียนราษฎร ซึ่งมีอัตราการเกิด-ตายที่ชัดเจน แต่ไม่มีข้อมูลการย้ายถิ่น หรือข้อมูลด้านอาชีพ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สสช. ได้เริ่มพัฒนาระบบ Government Data Cattaloge (GD Catalog) หรือ ระบบบัญชีภาครัฐ ที่จะแสดงให้รู้ว่า แต่ละหน่วยงานมีข้อมูลด้านใดบ้าง เริ่มพัฒนาเมื่อปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 และจะขยายผลในปี 2565 เพราะการนำข้อมูลมาไว้ที่เดียวกันค่อนข้างเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อมูลจำนวนมหาศาล GD Catalog เป็นแคตตาล็อคที่จะบอกว่าใครถือครองอะไร มีชั้นความลับระดับใด โดยข้อมูลเหล่านั้นก็จะยังอยู่ที่หน่วยงานของตนเอง เนื่องจากแต่ละหน่วยงานจะต้องอัพเดทข้อมูลของตัวเอง เปรียบเสมือนแคตตาล็อคเล่มหนึ่งที่เหมือนสมุดหน้าเหลือง เมื่อมีคนเข้ามาถ้าเปิดหาก็สามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้ หากมีชั้นความลับก็แจ้งว่าต้องมีกลไกอะไร ตามกฎหมายจะต้องทำอย่างไร ต้องไปร้องขอที่ไหน ซึ่งการมี Data Cattaloge จะเป็นสิ่งที่จะช่วยบอกว่าข้อมูลใดมีอยู่แล้ว และไม่ควรทำซ้ำซ้อน
แต่สุดท้ายหลังจากการทำข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูลแล้ว หน้าที่สำคัญของ สสช. คือ โดยนำข้อมูลมาประมวลผลในรูปของตาราง กราฟ การนำเสนอข้อมูลดิบสำหรับการศึกษาหรือการวิจัยพัฒนา ที่สามารถนำไปใช้ได้ แต่จะไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลของใคร ไม่สามารถระบุตัวตนได้เนื่องจากจะขัดกับ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว”
58 ปี สสช. ท่ามกลางยุคเปลี่ยนผ่าน
“วิวัฒนาการแรก ตั้งแต่ปี 2508 เมื่อก่อน สสช. เน้นการผลิตเป็นหลัก ในอดีตสำนักงานสถิติแห่งชาติตั้งอยู่ที่หลานหลวง และมีมีส่วนภูมิภาค เป็นสำนักงานสถิติจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งสมัยก่อนสำนักงานสถิติจังหวัดก็จะมีหน้าที่แค่ว่า ส่วนกลางดีไซน์อะไร จังหวัดก็มีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลตามนโยบายส่วนกลางเท่านั้น
แต่ในปัจจุบันสำนักงานสถิติทั่วประเทศได้รับการยกฐานะ สามารถขึ้นตรงอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย จึงสวมหมวกสามใบคือ กระทรวง สำนักงานสถิติแห่งชาติ และผู้ว่าราชการจังหวัด ภารกิจของสำนักงานสถิติจังหวัด จึงได้ปรับบทบาทจากการเป็นผู้เก็บข้อมูลอย่างเดียว มาทำหน้าที่ทั้งเก็บบริหารจัดการและงานบริการ
เมื่อก่อนการเก็บข้อมูล ใช้กระดาษแบบดั้งเดิม ตั้งแต่สำมะโนปี 2556 สสช. ได้พัฒนามาใช้แท็บเล็ต ทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็วขึ้น ยุคปัจจุบันมีเว็ปไซต์ แอปพลิเคชัน มีการเก็บข้อมูลโดยไม่ต้องใช้คน โดยใช้แอปฯ หรือคิวอาร์โค้ด ในอนาคตคาดว่าจะมีแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เก็บข้อมูลแล้วประมวลผลได้ในระบบ และนำเสนอได้ทันที ซึ่งจะทำให้ย่นระยะเวลาทำงานได้เร็วขึ้น”
“คุณมาดี” กับการออกพบปะประชาชน
“ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำนักงานสถิติฯ เราเคลมตัวเองก่อนว่า เราคือมืออาชีพในการเก็บข้อมูล จะเห็นว่าการเก็บข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่าย หากท่านไม่เข้าไปถึงบ้าน ใครจะยอมให้ข้อมูล สสช. มีบุคลากรอยู่ในพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ทุกคนได้รับการฝึกอบรมก่อนที่จะลงพื้นที่ ไม่ใช่เดินดุ่ม ๆ เข้าไป จะมีขั้นตอนการขอความร่วมมือตั้งแต่ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีหนังสือนำไปก่อน จะเข้าไปพบลูกบ้านต่างๆ จะมีการนัดหมายว่าจะมาทำอะไร ดังนั้นจึงมีตัวมาสคอตที่ชื่อว่า “คุณมาดี” เป็นสัญลักษณ์เพื่อให้เห็นว่าเรามาดี มารับหรือมาให้สิ่งดีดีกลับไปนำเสนอต่อ
พนักงานมีขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน มีการแสดงตัว แนะนำตัว ในส่วนกลางเอง หากไปแล้วไม่น่าเชื่อถือ ก็สามารถเช็คกลับมาที่สำนักงานฯ ว่า เป็นบุคลากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติจริงหรือไม่”
ก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 อย่างท้าทาย
“สสช. จะเข้าสู่ “สถิติในยุคดิจิทัล” มากขึ้น จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนในทุกกระบวนการ การบริหารจัดการภายในก็จะเน้นการนำดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยทั้งด้านความแม่นยำและรวดเร็ว ในส่วนการประชาสัมพันธ์ จะมีการส่งเสริมการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์มากขึ้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจภารกิจของสำนักงานสถิติแห่งชาติมากขึ้น”
สำหรับปี พ.ศ. 2564-2565 มีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการ ดังนี้ โครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 โครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 โครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โครงการยกระดับการสำรวจข้อมูลของ สสช. เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรสถิติดิจิทัล และโครงการจัดทำฐานข้อมูลผู้ถือครองทำการเกษตรของประเทศไทยโดยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นฐานในการจัดทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 เป็นต้น
“วันเพ็ญ พูลวงษ์” กับปีที่ 33 ใต้ร่มเงาของ สสช.
“การได้มาอยู่ที่สำนักงานสถิติ ถือเป็นความภาคภูมิใจ เดิมทีอาจจะเป็นงานเบื้องหลัง สมัยก่อนอาจจะบอกว่า เราปิดทองหลังพระ แต่ก็มีความภาคภูมิใจที่ทำข้อมูลแล้ว ข้อมูลที่นำมาอย่างยากลำบากนี้ จะกลับคืนสู่ประเทศชาติและประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
ที่ผ่านมาต้องมีทั้ง Hard กับ Heart ทำงานด้วยความทุ่มเท และทำงานด้วยหัวใจ งานสถิติถ้าไม่ทำด้วยหัวใจเราเจอปัญหาอุปสรรคเยอะ เราต้องบริหารจัดการโดยข้อมูลและด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งประสิทธิภาพประสิทธิผลของการงาน และคำนึงถึงความเท่าเทียม
ต้องสร้าง First Impression ทุกคนเห็นแล้วต้องประทับใจ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในบทบาทไหน วันนี้ทุกคนทำงานอย่างเดียวไม่พอ การขับเคลื่อนองค์กรต้องทำด้วยความสุข ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มองสิ่งดีดีของกันและกัน การมองเชิงบวก อย่าเอาเปรียบซึ่งกันและกัน และมีรอยยิ้มให้แก่กันเสมอ
สุดท้ายคือ Satisfied เอาใจนายด้วยงาน ไม่ใช่การเอาของมาตอบแทน เพราะวันหนึ่งถ้าคุณไม่มี เขาก็จะไม่เห็นคุณ เราไม่เคยปฏิเสธงานแต่เราจะมุ่งมั่นทำงานมาตลอด เพราะเราทำงานด้วยหัวใจ หากทุกคนใส่ใจในรายละเอียด การทำงานจะผ่านพ้นไปได้ เพราะเชื่อว่า ใจนี้มีพลังอย่างมาก”