เซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) กีฬาและกิจกรรมสุดฮิตในปัจจุบัน ที่โดนใจหลายๆ คน ได้ทั้งออกกำลังกาย ได้ทั้งความสนุกและความเท่ไปพร้อมๆ กัน แต่ควรมีวิธีการเล่นที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของตัวเราและคนอื่น หากเล่นสนุกมากเกินไปแต่ไม่เตรียมความพร้อมร่างกายและอุปกรณ์ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บถึงกับต้องมาโรงพยาบาลได้
นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางด้านผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) รพ.กรุงเทพ หรือ FIFA MEDICAL CENTRE OF EXCELLENCE ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ กล่าวว่า เซิร์ฟสเก็ต เป็นกีฬาบนแผ่นกระดานที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างสเก็ตบอร์ดกับกีฬาเซิร์ฟ เคลื่อนที่โดยใช้การบิดตัว ใช้แขนและสะโพกเหวี่ยงในการเดินหน้า และเปลี่ยนทิศทาง กีฬาชนิดนี้สามารถเกิดการบาดเจ็บได้สองแบบหลักๆ คือ 1.จากการเล่น เนื่องจากการเล่น Surf Skate ต้องใช้ การทรงตัว การบิดตัว และเหวี่ยงสะโพกในการเล่นอยู่ตลอดเวลา สำหรับผู้เล่นมือใหม่ อาจเกิดการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและข้อต่างๆได้ รวมถึง อาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อยต้นขา รวมทั้งข้อเข่า และข้อเท้า และ 2.จากอุบัติเหตุ ซึ่งมักเกิดจากการเสียการทรงตัว ล้ม กระแทก สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ตั้งแต่ อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ แผลถลอก หรือรุนแรงถึงขั้นเอ็นฉีกขาด กระดูกหัก อาจรุนแรงจนถึงขั้นผ่าตัดได้เลยทีเดียว หรืออาจล้มหัวกระแทกสมองกระทบกระเทือนได้เช่นกัน
ซึ่งสาเหตุการบาดเจ็บในการเล่น Surf Skate สรุปได้ดังนี้ มือใหม่ ยังขาดความคุ้นเคยและความเข้าใจในการเล่น ทำให้การทรงตัว การบังคับแผ่นกระดานสเก็ตไม่ราบรื่น รวมทั้ง บางคนร่างกายขาดความพร้อม ขาดความยืดหยุ่น ความแข็งแรงและความคล่องตัว สถานที่เล่นไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ขรุขระ มีทราย น้ำขัง ทางลาดชันมาก หรือมีผู้คนพลุกพล่าน โดยเฉพาะหากเลือกเล่นบริเวณใกล้ถนน มีรถวิ่งไปมา อาจจะทำให้เกิดอันตรายรุนแรงถึงชีวิตทั้งแก่ผู้เล่นและผู้สัญจร อุปกรณ์ไม่พร้อม ไม่เหมาะสม เนื่องด้วยชนิดของแผ่นกระดาน ฐานล้อและล้อ มีหลากหลายรูปแบบ หากคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจจะทำให้การเล่นติดขัดเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่จะช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ เช่น หมวกกันกระแทก สนับศอก สนับข้อมือ สนับเข่า เป็นต้น
เมื่อผู้เล่นมีความเชี่ยวชาญขึ้นในระดับหนึ่ง ก็มักต้องการเล่นท่าทางที่ผาดโผนมากขึ้น หรืออยากจะลองเล่นในพื้นที่ลาดเอียงที่ท้าทายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการบาดเจ็บได้ อาการบาดเจ็บรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้จากกีฬาชนิดนี้ ได้แก่ 1.)บาดเจ็บศีรษะ เช่น ศีรษะแตก กะโหลกร้าว สมองกระทบกระเทือน หรือมีเลือดออกในสมอง 2.)กระดูกหัก เช่น ข้อมือหัก ข้อศอกหัก กระดูกหัวไหล่หัก ไหปลาร้าหัก ข้อสะโพกหัก ลูกสะบ้าแตก และข้อเท้าหัก 3.)ข้อเคลื่อนหลุด เช่น ข้อไหล่หลุด ข้อศอกหลุด ลูกสะบ้าเคลื่อนหลุดบริเวณเข่า 4.)เอ็นฉีกขาด เช่น เอ็นหัวไหล่ เอ็นข้อศอก เอ็นเข่าหรือเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับบาดเจ็บจากกีฬา Surf Skate สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยใช้หลัก P.R.I.C.E. คือ 1.Protect คือการป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น การใช้ที่คล้องแขน การดามบริเวณที่บาดเจ็บ หรือการใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดิน 2.Rest คือการพักการเล่น และการใช้งาน เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ 3.Ice คือการประคบเย็น สามารถประคบเย็นบริเวณที่ปวดบวม หรือฟกช้ำ ครั้งละ 15-20 นาที ทำได้บ่อยตามต้องการ 4.Compression คือการใช้ผ้ายืดพันรอบบริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อลดการบวม และลดการเคลื่อนไหว 5.Elevation คือการยกสูง ทำโดยยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวม
อาการบาดเจ็บที่ควรต้องมาพบแพทย์ ได้แก่ 1.ศีรษะกระแทก มีอาการมึนงง จำเหตุการณ์ไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน 2.มีอาการปวด บวม ผิดรูปของกระดูกและข้อ อาจมีภาวะข้อเคลื่อนหลุด หรือกระดูกหัก 3.มีอาการปวดต่อเนื่องระหว่างการเล่น หลังการเล่น พักแล้วอาการไม่ดีขึ้น 4.เกิดอาการข้อไม่มั่นคง หลวม หรือเปลี่ยนทิศทางเดินแล้วเข่าทรุด อาจเป็นอาการของภาวะเอ็นฉีกขาด เช่น เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดได้
คำแนะนำในการเตรียมพร้อมเล่น Surf Skate 1.)เลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ และอยู่ในสภาพที่ดี ใช้งานได้ตามปกติ 2.)สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันน็อค สนับข้อมือ สนับศอก และสนับเข่า ช่วยลดความรุนแรงการบาดเจ็บได้ 3.)ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่แนะนำให้เล่น และเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ควรมีผู้ดูแลควบคุมที่มีประสบการณ์ 4.)ในผู้สูงอายุ ควรต้องระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากอาจมีภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุนร่วมด้วย หากเกิดอุบัติเหตุล้ม จะมีความรุนแรงเกิดกระดูกหักได้ โดยเฉพาะข้อมือ ข้อสะโพก และกระดูกสันหลัง
5.)เลือกสถานที่ให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อการเล่น เช่น Skate Park หลีกเลี่ยงการเล่นบริเวณใกล้ถนน 6.)เตรียมร่างกายก่อนเล่นด้วยการวอร์มอัพ ยืดเหยียด เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความพร้อมของข้อต่อและกล้ามเนื้อ 7.)บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ใช้งานหลักๆ ในการเล่น Surf Skate เช่น กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขาและน่อง อาจใช้การบริหารในท่า Plank หรือ Squat 8.)ควรศึกษาและฝึกซ้อมเทคนิคการเล่นในระดับพื้นฐานก่อน เรียนรู้การทรงตัว การเคลื่อนที่ และฝึกการล้มอย่างถูกวิธีเพื่อประเมินตนเอง 9.)ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากหากเล่น Surf Skate เป็นเวลานานกลางแดดร้อน อาจจะเกิดภาวะขาดน้ำและเกิดอันตรายจากความร้อนได้
กีฬาเซิร์ฟสเก็ต แม้จะดูมีความอันตรายอยู่พอสมควร แต่หากผู้เล่นเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี ไม่เล่นเสี่ยงจนเกินสมรรถภาพร่างกาย ก็นับเป็นกีฬาที่มอบความสนุกและเสริมสร้างสุขภาพร่างกายได้เป็นอย่างดีในทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้สามารถตรวจเช็กสภาพร่างกาย และขอคำปรึกษาได้ที่ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ (BASEM) หรือหากมีปัญหาอาการบาดเจ็บการการเล่นกีฬา สามารถเข้ารับการรักษา ฟื้นฟู หรือผ่าตัด กับทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา อาทิ ออร์โธปิดิกส์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู และพร้อมให้คำแนะนำตามมาตรฐานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่าได้ เพื่อให้ผู้เล่นทุกคนได้กลับมาโชว์ลีลาบนบอร์ดได้อย่างมั่นใจมากขึ้น