สสส. แจงความจริงของ “กัญชา” วอนทุกฝ่ายล้อมรั้วป้องกัน

15

ศศก.ร่วม สสส.จัดเวทีวิชาการ “กัญชา” รู้โทษและประโยชน์ของการใช้ รวมถึงผลกระทบต่อสังคม แนะเฝ้าระวังเข้าวงจรยาเสพติด ควรป้องกันมากกว่าแก้ปัญหาภายหลัง 

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล  ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดเวทีวิชาการ หัวข้อ “กัญชา 360 องศา หมุนรอบตัว ล้อมรั้วให้ปลอดภัย”  โดย น.ส.รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า หลังจากกฎหมายปลดล็อคส่วนของกัญชาและกัญชงออกมา อาจทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามมา ทั้งด้านบวกและด้านลบ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจทำให้เด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไปมองไม่เห็นโทษที่ยังมีอยู่ของสารโดยเฉพาะช่อดอกและเมล็ดกัญชา ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชน เพราะยังมียาเสพติดจำนวนมากที่ถูกลักลอบเข้าประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยาบ้าและไอซ์” จึงมีแนวโน้มที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาของสารเสพติดเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคล หน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดำเนินงานทั้งด้านการปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการป้องกันการเสพติดซ้ำ

นพ.ล่ำซำ  ลักขณาภิชนชัช  รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า จากการสำรวจล่าสุด พบว่าผู้ป่วยที่เข้ามารับการบำบัดจากกัญชาพบมากที่สุด และมีอาการทางจิตรุนแรงพอสมควร เพราะผู้ที่สูบกัญชากว่าจะแสดงอาการรุนแรงใช้ระยะเวลานานกว่ายาบ้าหรือไอซ์ จึงเข้าสู่กระบวนการบำบัดช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะเป็นอาการหลอน หลงผิดและหวาดระแวงกลัวผู้อื่นทำร้าย

“สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการอนุญาตเสพกัญชาเพื่อสันทนาการ แต่กลับพบว่ากัญชาหาซื้อได้ตามแหล่งโซเชียลและแหล่งที่ผู้เสพรู้เองว่าจะหาได้อย่างไร แม้รัฐบาลจะเร่งจับกุมก็ตาม ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้คนหันมาติดยาเสพติดได้ยาก คือ การสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ครอบครัวและสถานศึกษา หากมีความเข้มแข็งจะเข้าสู่วงจรนี้ได้ยาก ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายอนุญาตให้นำบางส่วนของกัญชามาใช้เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น คนที่ฟังข่าวอาจจะเข้าข้างตัวเองว่าสามารถสูบได้เพื่อสันทนาการ” นพ.ล่ำซำ กล่าว

ขณะที่ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า ขณะนี้กระแสการกินกัญชาและนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารเริ่มมีมากขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น จึงอยากทำความเข้าใจว่า การนำกัญชามาเป็นส่วนผสมปรุงในอาหารจะออกฤทธิ์ช้ากว่าการสูบ เนื่องจากปริมาณที่ให้อนุญาตมีส่วนสารมึนเมาน้อย กว่าจะออกฤทธิ์ใช้เวลานาน ทำให้ผู้ที่บริโภคในครั้งแรกบางครั้งไม่ได้รู้สึกถึงความเคลิ้มเคลิ้ม หรือความสุขอย่างที่คิด จึงบริโภคซ้ำไปอีกต่อเนื่อง เมื่อสะสมเรื่อยๆ จะกลายเป็นรับประทานในปริมาณมากเกินไป ดังนั้นก่อนที่จะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ควรต้องรู้ว่าร้านดังกล่าวได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ นำกัญชามาจากที่ใด เพราะแต่ละสายพันธุ์มีสารเมาไม่เท่ากัน รวมถึงกระบวนการปรุงอาหารแต่ละอย่างอาจทำให้สารเมาออกมาไม่เท่ากัน

รศ.พญ.รัศมน  กล่าวว่า สิ่งที่ต้องระวังคือกลุ่มเปาะบาง เช่น เยาวชนและผู้ที่มีโรคประจำตัว หากต้องการใช้ควรปรึกษาแพทย์ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ส่วนการสูบกัญชาแน่นอนว่ากฎหมายยังไม่ได้อนุญาต แต่ต้องยอมรับว่ามีการสูบมานานแบบผิดกฎหมาย ซึ่งการสูบออกฤทธิ์ได้เร็ว  แต่หากสูบผิดวิธีอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้