ภาวะฝุ่นเกินมาตรฐาน ป้องกันอย่างไร แล้วใครเสี่ยง

28

และแล้วก็ต้องอุทาน “อ้าว! หรอ” เพราะสิ่งเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และในหลายพื้นที่ จนทำให้หลายคนสงสัย และกลายเป็นเรื่องที่ฮือฮาในสังคม เพราะที่คิดกันไปเองว่ามันคือหมอกหน้าหนาว  กลับเป็นฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐาน แม้จะน่ากังวลหรือน่าตกใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นตระหนก หากรู้จักป้องกันตัวเอง

รายการงาน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ได้ออกเตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยง อาทิ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบ กลุ่มโรคผิวหนัง ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก เป็นต้น  ต้องระมัดระวังและดูแลตนเองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีฝุ่นขนาดเล็ก รวมถึงในกรุงเทพมหานคร  ที่อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดม  พร้อมแนะนำการดูแลและป้องกันสุขภาพเมื่อเกิดฝุ่นขนาดเล็ก

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีค่าฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐาน นั้น  จากการตรวจสอบข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ  สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  ในวันที่ 24 มกราคม 2561    พบค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่ โดยพบสูงสุดที่ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร  ซึ่งในวันนี้ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง รวมถึงมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม   

โดยสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนี้ มาจากหลายสาเหตุ เช่น การจราจร อุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง เป็นต้น  นอกจากกลุ่มเสี่ยงที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ผู้ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ  รวมถึงผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว  ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นขนาดเล็ก

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำการดูแลและป้องกันสุขภาพเมื่อเกิดฝุ่นขนาดเล็ก ดังนี้

1.ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง

2.อาคารบ้านเรือน ให้ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน เพื่อเป็นตัวกั้นฝุ่นไม่ให้เข้าบ้าน

3.หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก ถ้าอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นให้ใช้หน้ากากกรองฝุ่นหรือหาผ้าเปียกมาปิดจมูก

4.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และการทำงานหนักที่ออกแรงมาก เพราะการหายใจเร็วในระหว่างการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมาก

5.ให้ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก

6.ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก จะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ในการรับประทานยา การรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง     และรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการทรุดลง  และหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสกับอากาศที่มีฝุ่นละออง หรือมีการใช้หน้ากากกันฝุ่น

7.ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป

8.ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ก่อปัญหาซ้ำเติม หรือทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงอีก

นอกจากนี้ ขอแนะนำประชาชนที่ดูแลผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิดและหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วย รวมถึงผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง  และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด  หากพบอาการผิดปกติให้รีบนำตัวส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที  และแนะนำให้ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงพักผ่อนอยู่ในบ้าน ที่สำคัญควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422