โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิด “ศูนย์โรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก”

121

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยกระดับการบริบาลทางการแพทย์เฉพาะทาง เปิด “ศูนย์โรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก” ตรวจวินิจฉัยรักษาครอบคลุมครบจบในที่เดียว ด้วยทีมแพทย์ชำนาญการสูง พร้อมนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หนึ่งในนั้นถือเป็นโรคร้ายที่คุกคามการใช้ชีวิตประจำวันและอาจถึงขั้นเสียชีวิต นั่นคือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งติดใน 3 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในไทย และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ทั้งนี้ในช่วงชีวิตของแต่ละคนจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 5-6 % และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ 2.5 % โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 2.4 เท่า และยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของทุกประเทศ

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นับเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกๆ ในประเทศไทยที่ตระหนักถึงความสำคัญในการมุ่งยกระดับการให้บริบาลทางการแพทย์แบบองค์รวมด้วยนวัตกรรม ล่าสุดจึงได้เปิดศูนย์เฉพาะทาง ภายใต้ชื่อ “ศูนย์โรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก” ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) ที่ให้การรักษาในระดับจตุตถภูมิ (Quaternary Care) อยู่บนยอดพีรามิดสูงสุดในการรักษาพยาบาล โดยศูนย์โรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พร้อมให้บริการดูแลรักษาอย่างครอบคลุมทุกมิติเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ตั้งแต่โรคที่พบบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย จนถึงการวางแผนรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล ตั้งแต่การรักษาโดยใช้ยา ไปจนถึงการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ที่มีทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูงในการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง หรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วยการผ่าตัด นอกจากนี้ทางแพทย์ยังทำงานเป็นทีมร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์สูง เช่น พยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร และนักรังสีวิทยา เพื่อให้ผลลัพธ์ของการรักษาออกมาเป็นอย่างดีที่สุด

ศ.นพ. อรุณ โรจนสกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “อาการและโรคที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีหลายประเภท เนื่องจากลำไส้ใหญ่มีหน้าที่ในการดูดซึมน้ำและเกลือแร่ รวมถึงกำจัดของเสียออกจากร่างกายทางทวารหนัก ลำไส้ใหญ่เป็นที่อาศัยของแบคทีเรียจำนวนมากซึ่งช่วยในการย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหาร สร้างวิตามินบางชนิดที่สำคัญและสร้างสมดุลของกรดและด่างในร่างกาย หากลำไส้ใหญ่และทวารหนักทำงานผิดปกติ อาจส่งผลให้มีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูกหรือมีเลือดออกในอุจจาระ”

โดยศูนย์โรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้มีประสบการณ์สูงในการทำหัตถการรักษาโรคทางลำไส้ใหญ่และทวารหนักทุกประเภท ทั้งโรคที่ไม่รุนแรงแต่สร้างความรำคาญใจในการดำเนินชีวิต โรคที่ซับซ้อน และโรคที่มีความรุนแรงคุกคามต่อชีวิต โดยการรักษาจะครอบคลุมโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ริดสีดวงทวารหนัก ฝีคัณฑสูตร และฝีรอบทวารหนัก แผลปริขอบทวาร ไส้ตรงปลิ้น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในทวารหนัก ภาวะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระไม่ได้หรือกลั้นอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น

ซึ่งหลายครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึกอายหรือกลัวการผ่าตัดจนรอให้มีอาการมากขึ้นหรือทนเจ็บปวดไม่ไหวจึงมาพบแพทย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โรคบางโรค เช่น โรคริดสีดวงทวาร ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด นอกจากนี้ผลการวิจัยพบว่าการตรวจพบและรักษาโรคแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้การรักษาได้ผลดีและทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงหากเป็นโรคที่ร้ายแรง”

ศูนย์โรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ บริการตรวจวินิจฉัย ผ่าตัดรักษาและแก้ไขความผิดปกติของลำไส้ใหญ่และทวารหนักทุกประเภทอย่างครอบคลุมทุกระยะการดำเนินโรค พร้อมติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด อีกทั้งบำรุงราษฎร์ยังมีความโดดเด่นในการทำหัตถการของทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการรักษาหลากหลายวิธี อาทิ การผ่าตัดริดสีดวงทวารหนักด้วยวิธีที่ทันสมัยและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย, การผ่าตัดฝีคัณฑสูตร และฝีรอบทวารหนักโดยที่ไม่มีการทำลายหูรูดทวารหนัก หรือที่เรียกว่าเทคนิค LIFT (Ligation of intersphincteric fistula tract technique)

ประกอบกับความชำนาญในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยการส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Diagnostic colonoscopy) หรือการผ่าตัดโดยใช้เทคนิคการส่องกล้องลาพาโรสโคป (Laparoscopic Surgery) และการผ่าตัดผ่านกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่ (Advanced Endoscopic procedure) รวมถึงการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยวิธีการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด (Robotic Assisted Colorectal Cancer Surgery) และจากสถิติข้อมูลโรงพยาบาลฯ ระบุว่าตั้งแต่ปี 2562 – กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ป่วยมารับการรักษากับทีมแพทย์ด้านศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กว่า 10,000 ราย ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์ได้คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดตามคุณภาพมาตรฐานระดับสากล

ทีมแพทย์ของบำรุงราษฎร์ยังประกอบด้วยแพทย์ผู้คิดค้นเทคนิคการผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบใหม่หรือเทคนิค ‘LIFT’ โดยวิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดมากกว่า 90% จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ศูนย์ฯ โดยไม่ทำลายหูรูดทวารหนักหรือทำลายน้อยที่สุดเพื่อให้ไม่มีความผิดปกติของการควบคุมการกลั้นอุจจาระหรือผายลม  การผ่าตัดรักษานั้นทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับระยะของโรค ซึ่งแพทย์จะประเมินวิธีการรักษาหรือการผ่าตัดที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละบุคคล

โดยสามารถแบ่งการผ่าตัดออกเป็น 2 วิธีหลัก คือ 1. การผ่าตัดเปิดฝีคัณฑสูตร (Fistulotomy or fistulectomy) วิธีนี้เหมาะสำหรับฝีคัณฑสูตรชนิดที่อยู่ตื้น ผ่านหูรูดไม่มาก ซึ่งหลังทำการผ่าตัดมักจะไม่มีปัญหากับการควบคุมหูรูด และ 2. การผ่าตัดโดยการเก็บรักษาหูรูด หรือ LIFT เหมาะกับในรายที่ฝีคัณฑสูตรผ่านกล้ามเนื้อหูรูดค่อนข้างลึก เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่ตัดหูรูด ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มั่นใจได้ว่าหลังการผ่าตัดจะสามารถกลั้นอุจจาระได้เป็นปกติ ข้อดีคือแผลเล็ก เจ็บน้อย กลับบ้านได้เร็ว ปัจจุบันเป็นวิธีการผ่าตัดที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาอย่างแพร่หลายทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้สั่งสมประสบการณ์จากการรักษาเคสผู้ป่วยโรคฝีคัณฑสูตรจำนวนมาก จากข้อมูลล่าสุดในปี 2562 – ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคฝีคัณฑสูตร จำนวนถึง 452 ราย ที่ไว้วางใจเข้ารับการรักษาที่บำรุงราษฎร์ และประสบความสำเร็จในการรักษาทุกราย

ข้อโดดเด่นอีกประการของศูนย์โรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คือการให้ความสำคัญในการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและได้มาตรฐานในระดับสากลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดแก่ผู้ป่วยของศูนย์โรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อาทิ การส่องกล้องความละเอียดสูงตรวจลำไส้ใหญ่ที่ทันสมัย (High definition Colonoscopy with magnify narrow band imaging), การตรวจการทำงานของอุ้งเชิงกรานด้วยเครื่อง MRI (MRI Defecography), การตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนักชนิดความละเอียดสูง (High-Resolution Anorectal Manometry) และการตรวจดูการเคลื่อนผ่านของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่ (Colonic Transit Time) เป็นต้น

“มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อย จึงอยากแนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงอยากให้ประชาชนทราบถึงสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ พฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระก้อนเล็กลง อุจจาระมีเลือดปน ซึ่งอาการนี้เป็นอาการสำคัญที่ควรใส่ใจเพราะคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นแค่ริดสีดวงทวาร ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ คือ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพราะโรคนี้สามารถป้องกันได้ หากทำการตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้นก่อนโรคจะลุกลามกลายเป็นมะเร็ง”ศ.นพ. อรุณ  กล่าวทิ้งท้าย