สธ.เดินหน้า 4 มาตรการหลักควบคุมโควิดระลอกเมษายน

5
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร

กระทรวงสาธารณสุขเผยโควิดระลอกเมษายนติดเชื้อในประเทศ 3,661 ราย ใน 70 จังหวัด คาดปิดสถานบันเทิงลดติดเชื้อร้อยละ 32.8 หากเพิ่มมาตรการส่วนบุคคล ลดการรวมตัว และทำงานที่บ้าน จะลดการติดเชื้อลงเป็นขั้น เร่งเดินหน้า 4 มาตรการหลัก ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ

วันนี้ (11 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 967 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 530 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 434 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย ทำให้การติดเชื้อระลอกตั้งแต่วันที่ 1-11 เมษายน 2564

มีผู้ติดเชื้อสะสม 3,762 ราย (ติดเชื้อในประเทศ 3,661 ราย และจากต่างประเทศ 101 ราย) หายป่วยแล้ว 788 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 4,314 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ฉีดแล้ว 555,396 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 485,957 ราย  และครบ 2 เข็ม 69,439 ราย

“ขณะนี้ประเทศไทยมีการติดเชื้อแล้ว 70 จังหวัด ซึ่งเชื่อมโยงจากสถานบันเทิง ดังนั้น ผู้ที่เคยไปสถานบันเทิงต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการอย่างน้อย 14 วันจากวันที่ไปครั้งสุดท้าย หากมีอาการขอให้ไปตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว และระมัดระวังตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กในครอบครัว” นายแพทย์โสภณกล่าว

นายแพทย์โสภณกล่าวว่า กองระบาดวิทยา และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ทำแบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ในระยะ 1 เดือนข้างหน้า โดยเปรียบเทียบ 5 สถานการณ์ที่มีการเพิ่มมาตรการเป็นขั้นพบว่า หากไม่มีมาตรการใดๆ อาจมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 9,140 รายต่อวัน

มีมาตรการปิดสถานบันเทิงจังหวัดเสี่ยงผู้ติดเชื้อลดลงเหลือร้อยละ 32.8 เมื่อเพิ่มมาตรการส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ลดการติดเชื้อลงเหลือร้อยละ 10.2 เพิ่มมาตรการลดกิจกรรมการรวมตัว ลดการติดเชื้อลงอีกเหลือร้อยละ 6.5 และเมื่อเพิ่มมาตรการองค์กร เช่น ทำงานที่บ้าน จะลดการติดเชื้ออีกเหลือร้อยละ 4.3 หรือเท่ากับผู้ติดเชื้อ 391 รายต่อวัน

ทั้งนี้ การควบคุมโรคโควิด 19 ต้องอาศัย 4 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการสังคม คือ ลดกิจกรรมชุมนุมสังสรรค์ ลดการเดินทางข้ามจังหวัดที่ไม่จำเป็น ผู้นำชุมชนค้นหาติดตามผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง 2.มาตรการสาธารณสุข คือ คัดกรองเชิงรุก นำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษา ลดโอกาสการแพร่เชื้อต่อ ป้องกันการเสียชีวิตในผู้ที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 3.มาตรการส่วนบุคคล คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ ตรวจวัดอุณหภูมิ หากมีอาการสงสัยตรวจหาเชื้อ ส่วนผู้ที่ประวัติเสี่ยงให้กักตัว 14 วัน และ 4.มาตรการองค์กร เน้นย้ำการทำงานจากที่บ้าน จัดประชุมหรือจัดการเรียนการสอนออนไลน์

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐบาลให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 เข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อต่อ ดังนั้น การบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อ จึงมีการเปิดสายด่วน 1668 และ 1330 เพื่อประสานจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีเตียง นอกจากนี้ มีการทำตึกผู้ป่วยสำหรับดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (โคฮอร์ดวอร์ด) , Hospitel และโรงพยาบาลสนาม เช่น กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลมากกว่าพันเตียง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตั้งโรงพยาบาลสนามแล้ว 470 เตียง เป็นต้น เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อที่อาการดี ทำให้โรงพยาบาลปกติมีเตียงรองรับในการรักษาผู้ติดเชื้อมีอาการรายใหม่เพิ่มขึ้นได้

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประชาชนทั่วไป จะเริ่มเมื่อมีวัคซีนล็อตใหญ่ของแอสตร้าเซนเนก้าในเดือนมิถุนายนนี้ ตั้งเป้าฉีดเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อขอเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ทางแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 โดยสถานพยาบาลจะนัดมารับวัคซีนตามกำหนดต่อไป