สสส. เตรียมแผนรับมือและเฝ้าระวังโควิด-19 โดยชุมชน แนะให้ท้องถิ่นใช้หลัก “6 ต.” เตรียมให้พร้อม-ตรวจให้พบ-เตือนให้สำเร็จ-ตีให้เร็ว-ตามให้หมด-ตกผลึกการเรียนรู้ เสริมประสิทธิภาพทำงานเชิงรุกยิ่งขึ้น
ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. ได้จัดฝึกอบรมนักพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อชุมชนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถชุมชนท้องถิ่นในการเฝ้าระวังโรคติดต่อ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและทบทวนแนวทางการบริหารเครือข่าย ตลอดจนจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการ และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กำหนดเป้าหมายในการทำงานร่วมกันของเครือข่ายการควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวม 116 แห่ง
โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทบทวนข้อมูลพื้นที่นำเสนอแผนปฏิบัติการ และ ไทม์ไลน์การควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น โดยมี นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ.ดร.พีรพงษ์ บุญสวัสดิ์กุลชัย รองผู้อำนวยการ ศวช. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะ
“ชุมชนท้องถิ่นต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในพื้นที่และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างพื้นที่ไปพร้อมกัน ทั้งการทำความเข้าใจ กำหนดกติกา จัดทำแผน และจัดสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบข้อมูลที่แม่นยำเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาระบบ ตลอดจนสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่น ทีมงาน ที่มีความรอบรู้ด้านการควบคุมโรค โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ ที่สำคัญต้องเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐด้วย” นางดวงพร กล่าว
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 แผนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดและมีบทบาทสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะที่ดีแก่ประชาชน ซึ่งเห็นตัวอย่างได้จากการรับมือการระบาดของโควิด -19 ที่ท้องถิ่นสามารถปฏิบัติการรับมือและป้องกันได้อย่างทันท่วงที การรับมือภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นฐานต้องเริ่มต้นที่การป้องกัน ดูแลช่วยเหลือกันเองภายในชุมชน คนในชุมชนต้องร่วมคิด วิเคราะห์ความเสี่ยงภัยในชุมชน พร้อมทั้งทำแผนที่เสี่ยงภัย
จากนั้นร่วมกันกำหนดขั้นตอนการดำเนินงาน ตั้งแต่การเฝ้าระวัง การแบ่งหน้าที่บุคลากรในชุมชน และการทำแผนปฏิบัติการ เพื่อร่วมกันดูแล เฝ้าระวัง ป้องกัน หลีกเลี่ยง และลดความรุนแรงของภัย หรือเมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติต่างๆ สามารถนำ หลัก 6 ต. มาประยุกต์ใช้ ซึ่งประกอบไปด้วย เตรียมให้พร้อม ตรวจให้พบ เตือนให้สำเร็จ ตีให้เร็ว ตามให้หมด และตกผลึกการเรียนรู้
“การจัดการภัยพิบัตินั้น เมื่อเรามีการวิเคราะห์ข้อมูล มีแผนท้องถิ่น มีทรัพยากร มีงบประมาณ มีแผนการทำงาน การนำหลัก 6 ต.มาประยุกต์ใช้จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ต.แรก คือต้องเตรียมคนให้พร้อมทุกเรื่อง ทั้งคนเงิน สิ่งของ เหมือนไปรบ ต้องดูรอบด้าน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ไม่ต่างจากการที่ทุกคนมารวมตัวกันอบรมครั้งนี้ คือ ต.ที่ 6 คือการตกผลึก ทบทวน ปรับปรุง เพราะการตกผลึกเรียนรู้ นำไปสู่การทำแผนใหม่ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นพ.พิศิษฐ์ กล่าว