อินโดรามา เวนเจอร์ส ชวนคนรุ่นใหม่ ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคม

19

อินโดรามา เวนเจอร์ส ร่วมกับ องค์กรระดับนานาชาติ เดินหน้าโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ชวนคนรุ่นใหม่ออกไอเดียนวัตกรรมตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคม

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และดำเนินธุรกิจรีไซเคิลชั้นนำระดับโลก เปิดตัว “โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน” ร่วมกับ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ ศูนย์ปฏิบัติการ SDG Lab แห่งวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ชวนเยาวชนและคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 16-30 ปี เสนอไอเดียนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดได้จริง เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน พัฒนาการจัดการขยะพลาสติก และแก้ปัญหาสุขอนามัย ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 2 แสนบาท พร้อมเข้าร่วมเวิร์คช็อป เรียนรู้ และพัฒนาผลงาน โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญขององค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ

ยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุน ‘โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน’ เพื่อมอบเครื่องมือและเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับอนาคต พร้อมเรียนรู้โดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยหวังว่าโครงการนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย และส่งเสริมประโยชน์ของการใช้งานผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เพราะนวัตกรรมที่ดีทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นอย่างครบวงจร เช่นเดียวกับการรีไซเคิลขวด PET ของเรา ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และไม่รั่วไหลไปยังสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น เราเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ประสบความสำเร็จในการรีไซเคิลขวด PET เป็นเส้นใยคุณภาพสูงสำหรับผลิตชุด PPE ที่ใช้ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถซักและใช้งานซ้ำได้ ทดแทนชุดประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง”

ในฐานะผู้ผลิต PET รายใหญ่ที่สุดในโลก อินโดรามา เวนเจอร์สเชื่อว่าการรีไซเคิลคือหัวใจหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการลดปัญหาขยะ บริษัทฯ จึงร่วมมือกับหลากหลายองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนปฏิญญาระดับโลกที่ต้องการเพิ่มการใช้งานผลิตภัณฑ์รีไซเคิล พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการรีไซเคิลขวด PET ให้ได้ 5 หมื่นล้านขวดต่อปี ภายในปี 2568

ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการ SDG Lab วิทยาลัยโลกคดีศึกษา กล่าวว่า โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงประเด็นรอบด้านของเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทั้งช่วยพัฒนาทักษะให้กับนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ในการพัฒนาโซลูชันที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจัดการแข่งขันในรูปแบบ Hackathon ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบเร่งด่วน ผ่านการระดมความคิดของผู้ที่มีแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาขยะเน่าเสีย ขยะล้นเมือง และระบบการจัดการขยะแบบผิดวิธี

โดยผู้เข้าร่วมแข่งขัน 1 ทีม ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 3-5 คน ร่วมกันออกแบบและพัฒนาโปรเจกต์เพื่อสร้างสังคมไร้ขยะอย่างยั่งยืนและครบวงจร ภายในระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคนจะมีโอกาสได้เข้าร่วมเวิร์คช้อปเข้มข้นที่นำโดย Youth Co: Lab เพื่อเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรพันธมิตรระดับนานาชาติ โดยผลงานจากผู้ส่งเข้าประกวดรอบแรกจะถูกคัดเลือกให้เหลือเพียง 10 ผลงานที่จะได้พัฒนาต่อยอด และนำเสนอคณะกรรมการตัดสินในรอบสุดท้าย ทั้งนี้ ทีมที่ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัลรวมถึง 200,000 บาท พร้อมโอกาสในการพัฒนาโครงการให้สำเร็จเป็นรูปธรรม และใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์”

เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาขยะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพบนบกและสุขภาพของประชาชน ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของระบบการจัดการขยะ โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในการจัดการปริมาณขยะมูลฝอย

อย่างไรก็ตาม วิกฤตนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เราริเริ่มสร้างแบบจำลองนวัตกรรมใหม่ที่ยั่งยืนมากขึ้น กำหนดพื้นที่สีเขียวและสร้างความยืดหยุ่นในการดำรงชีวิต รวมถึงพัฒนานวัตกรรมที่ทันสมัย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเชื่อว่า นวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ โดยไทยเป็นประเทศที่เราให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการสังคมรุ่นใหม่และชุมชนต่าง ๆ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางการปฏิบัติในการจัดการขยะผ่านหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่เพียงแต่เป็นแนวทางสู่การจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้ออื่น ๆ อีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ เป้าหมายข้อที่ 12 : สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

ผู้ที่สนใจโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามความเคลื่อนไหว ได้ที่ Facebook page: https://www.facebook.com/tucircularinnovation/  หรือ website: https://sgs.tu.ac.th/tucircularinnovation