สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับ บริษัทในเครือฮาคูโฮโด ทำการสำรวจและคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนเมษายน 2564 พบว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทย
ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทางสถาบันวิจัยฯ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มการบริโภคของคนไทยทุกๆ 2 เดือน โดยครั้งล่าสุดเป็นการสำรวจทางออนไลน์ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุ 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบข้อบ่งชี้เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยที่สำคัญ 2 ข้อ ได้แก่
- ผู้บริโภคกล้าใช้จ่ายมากขึ้นแม้โควิดจะยังอยู่ คนไทยเริ่มผ่อนคลายกับการใช้จ่ายมากขึ้น เห็นได้จากความต้องการใช้จ่ายไปกับการทานอาหารนอกบ้านหรือการซื้อเสื้อผ้าใหม่ การอยู่บ้านมากขึ้นยังทำให้เกิดวิถีใหม่ “สร้างสุขได้เองที่บ้าน” เห็นได้จากความต้องการซื้อสินค้าเครื่องใช้เพื่อความสะดวกสบายในบ้านมากขึ้น ในขณะที่การซื้อของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันเริ่มน้อยลงเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน สินค้าและบริการที่ผู้บริโภคอยากซื้อมากที่สุดในเดือนเมษายน 5 อันดับแรก คือ อาหาร ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน เครื่องใช้ภายในบ้าน เสื้อผ้า อีกทั้งมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น
- อานิสงส์จากช่วงสงกรานต์และวันหยุดยาว เทศกาลแห่งความสุขและวันหยุดยาวช่วงหน้าร้อนนี้เป็นตัวขับเคลื่อนการใช้จ่ายเพื่อเตรียมตัวสำหรับการพักผ่อน การรวมญาติ ทั้งยังมีเทศกาลลดราคาต่างๆ มาจูงใจ สัญญาณความสุขนี้ส่งผลต่อระดับความคาดหวังถึงความสุขในอนาคตที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยระดับความสุขในปัจจุบันอยู่ที่ 65 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 64 คะแนนในการสำรวจครั้งก่อน ส่วนการคาดการณ์ระดับความสุขใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้บริโภคคาดว่าจะมีความสุขเท่ากับตอนนี้ร้อยละ 51 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากการสำรวจครั้งก่อน คาดว่าจะมีความสุขมากขึ้นร้อยละ 43 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และคาดว่าจะมีความสุขน้อยลงร้อยละ 6 ลดลงร้อยละ 4
วรีมน เบญจพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ และนางสาวดวงแก้ว ไชยสุริวิรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 56 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 54 คะแนนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยผู้บริโภคมีความต้องการใช้จ่ายไปกับการซื้อเสื้อผ้า ทานอาหารนอกบ้าน เครื่องใช้ภายในบ้าน รองเท้า-กระเป๋า โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
พบว่าความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ ภาคตะวันออกมีความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรีและระยอง จากสินค้ากลุ่มอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวันและเสื้อผ้า ซึ่งอาจเป็นผลจากการซื้อทดแทนของที่หมดไปในช่วงล็อคดาวน์ และสำหรับการประกอบอาชีพเพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยว ส่วนกรุงเทพและปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายลดลง
จำแนกตามช่วงอายุ
พบว่าแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว โดยอาจเป็นการจับจ่ายเพื่อเตรียมตัวสำหรับเทศกาลและวันหยุดยาว เช่น ซื้อของขวัญให้ครอบครัวและคนพิเศษ หรือซื้อของตามที่วางแผนไว้แล้วเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น
การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย เป็นการสำรวจทุก 2 เดือนร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัทในเครือฮาคูโฮโด เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย