ศวส. ชี้ มาตรการ ห้ามขายน้ำเมา-ปิดผับ บาร์-งดงานรื่นเริง หยุดโควิด-19 ระบาด

9
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

ศวส. ชี้ มาตรการ ห้ามขายน้ำเมา-ปิดผับ บาร์-งดงานรื่นเริง หยุดโควิด-19 ระบาดได้ เผย คนหยุดดื่ม 50% สสส. รณรงค์หยุดดื่ม หยุดเชื้อ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ วอน งดพฤติกรรมเสี่ยง ย้ำ ฤทธิ์น้ำเมา สร้างความรุนแรงในครอบครัว เด็กเสี่ยงถูกทารุณ ชีวิตคู่พัง

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แพร่เชื้อ และทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ยากกว่าคนที่ไม่ดื่มแล้ว  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย สร้างภาระทางสุขภาพในระบบบริการสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์  จากการศึกษาผลการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 พบปัญหาที่เกิดขึ้นจากฤทธิ์น้ำเมา 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.ข้อมูลวิชาการจำนวนมากชี้ชัดว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย และการทารุณกรรมเด็ก 2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวเร่งและเสริมความรุนแรงในชีวิตคู่ 3.การดื่มที่มาจากความเครียดจะส่งผลต่อสุขภาพจิต ทำให้กระทบกับหน้าที่การงานและปัญหาการเงิน และ 4. นโยบายปิดเมืองหลายประเทศทั่วโลก พบว่า การดื่มที่บ้านทำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานได้น้อยลง

“การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ล้มตาย เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน การพลัดตกหกล้ม การจมน้ำ และยังส่งผลกระทบทางสังคมมากมาย เช่น ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทในที่สาธารณะ และสร้างปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่โควิด-19 ระลอกนี้ พบพฤติกรรมเสี่ยงที่เพิ่มวงจรการระบาดคือ การดื่มในสถานบันเทิงและงานรื่นเริง จึงอยากย้ำให้ทุกคน หยุดดื่ม หยุดเชื้อ เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์และประเทศไทย ให้มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นได้มากขึ้น” รุ่งอรุณ กล่าว

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 ศวส. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อสถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยด้วยการสัมภาษณ์ ผู้ประกอบการ พนักงานในสถานบันเทิง ร้านอาหาร และผู้ค้าขาย จำนวน 640 ราย พบว่า การที่รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการปิดเมือง และออกมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า ประชาชน 50% หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มลดลงอีก 30-40% สะท้อนว่ามาตรการควบคุมโควิด-19 ด้วยการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สั่งปิดสถานบันเทิง และงดพฤติกรรมเสี่ยงในงานรื่นเริง มีผลทำให้ตัดวงจรระบาดของโควิด-19 ได้

“แม้มาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปิดสถานบันเทิง จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จากผลงานวิจัยพบว่า มีผู้ประกอบการจำนวนมากพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปรับรูปแบบการให้บริการในร้าน ด้วยการเปลี่ยนไปขายสินค้าชนิดอื่นและเปลี่ยนช่วงเวลาขายให้เหมาะสม ทำให้หลายธุรกิจไปต่อได้ เมื่อมีการวางแผนรับมือที่มีประสิทธิภาพ” ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าว