รณรงค์ “ฉีดวัคซีนทั่วโลก” เพื่อหยุดโควิด-19

7

รณรงค์ “ฉีดวัคซีนทั่วโลก” เพื่อหยุดโควิด-19 เรียกร้องกลุ่มประเทศร่ำรวยเพิ่มงบสนับสนุน-เสนอให้ยกเลิกสิทธิบัตรชั่วคราว-เร่งกำลังผลิตให้ประชาชนโลกกว่า 7,500 ล้านคนได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ภายใต้โครงการ VOW: Vaccinate Our World โดย AHF

จากการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 150 ล้านคนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 3 ล้านคน ก่อให้เกิดวิกฤตทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจลุกลามไปทุกมุมโลก มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) เชิญชวนชาวไทยและประชาคมโลกร่วมมือกันในโครงการ ฉีดวัคซีนให้โลก (VOW: Vaccinate Our World) ช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้กลุ่มประเทศร่ำรวย โดยเฉพาะกลุ่ม G20 และ สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ เพิ่มงบประมาณสนับสนุน และขอให้บริษัทยายกเลิกหรือระงับสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 เป็นการชั่วคราว พร้อมเร่งกำลังการผลิตเพื่อให้ประชาชนโลกกว่า 7,500 ล้านคนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกันทั้งโลก เพราะนี่เป็นหนทางเดียวที่จะยุติการแพร่ระบาดของมหันตภัยจากไวรัสครั้งนี้ได้ ทั้งนี้ AHF จะทำการรณรงค์พร้อมกันในเมืองเอกของทุกทวีปทั่วโลก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, โจฮันเนสเบิร์ก, ลอนดอน, เซาเปาโล และ กรุงวอชิงตัน ดีซี

นายแพทย์ สรัท ชิม ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ กล่าวว่า แม้สถานการณ์ของ โควิด-19 ในประเทศร่ำรวยบางประเทศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ประเทศที่ยากจนหรือมีรายได้ปานกลางส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 เช่น ประเทศอินเดีย ที่ตกอยู่ในสภาวะวิกฤตหลังจากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 300,000 คนต่อวัน ต่อเนื่องกันเป็นสัปดาห์ เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิตที่ทะลุ 200,000 รายไปแล้ว

“เราเห็นว่าหนทางเดียวที่จะระงับยับยั้งวิกฤตครั้งนี้คือการทำให้คนทั่วโลกได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพราะจากข้อมูลจะพบว่าวัคซีนกว่า 700 ล้านโดสที่ผลิตขึ้นมา 87 เปอร์เซ็นต์ถูกจัดส่งไปยังประเทศที่มีฐานะร่ำรวยหรือค่อนข้างรวย มีเพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ไปถึงยังประเทศที่ยากจน ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวย ตลอดจนธนาคารโลกและสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั้งหลายช่วยกันบริจาคให้มากขึ้น และในสภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ควรให้มีการยกเลิกหรือระงับการใช้สิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 เป็นการชั่วคราว และขอให้โรงงานเร่งกำลังการผลิตให้มากที่สุด เพื่อให้ทันต่อการแพร่ระบาดและให้ผู้คนกว่า 7,500 ล้านคนทั่วโลกได้รับวัคซีน เพราะนี่เป็นวิธีเดียวที่เราทุกคนจะปลอดภัย” นายแพทย์ สรัท ชิม กล่าว

ในส่วนสถานการณ์ของประเทศไทย นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขและกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า “ขณะนี้แผนการจัดหาวัคซีนเป็นไปตามที่วางแผนไว้แล้ว ณ วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมาเราได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วกว่า 2 ล้านโดส โดยเน้นที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ด่านหน้า เป้าหมายของเราคือการฉีดให้ครอบคลุมอย่างน้อย 70% ของประชากรทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งอาศัยงบประมาณจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลราชการ กองทุนประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” นายแพทย์โสภณ ยังกล่าวอีกว่า “ความร่วมมือทั้งระบบภาครัฐและสังคมจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดครั้งนี้”

ขณะที่ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนว่า ปัจจุบันมีข้อมูลส่งต่อไปมากมายในโซเชียลมีเดีย อ้างถึงผลข้างเคียงของวัคซีนทำให้หลายคนเกิดความกังวลไม่กล้ามารับการฉีด ขอยืนยันว่า การฉีดวัคซีนนั้นดีกว่าไม่ฉีดแน่นอน เพราะจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงหากติดเชื้อ “แม้การรับวัคซีนจะเป็นไปตามความสมัครใจ แต่อยากให้ทุกคนถือเป็นหน้าที่รับวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอและปิดจบการระบาดให้เร็ว” ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยืนยัน และยังระบุว่า ประเทศไทยสั่งจองวัคซีนไว้ทั้งสิ้น 63 ล้านโดส จะเร่งฉีดให้ครบทั้งหมดภายในสิ้นปี 2564 ขณะเดียวกันก็ได้พิจารณาการจัดหาวัคซีนทางเลือกเอาไว้ด้วย

ด้าน อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นความสำคัญของการยกเลิกหรือระงับสิทธิบัตรวัคซีนหรือยาต้านไวรัสว่า การแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ต้องตั้งเป้าหมาย 2 ประการ 1.การป้องกัน-เพื่อลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งต้องใช้วัคซีน 2.การรักษา-เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ต้องใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการที่เป็นระบบ โดยระบบสิทธิบัตรจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการป้องกันและรักษา คือทั้งวัคซีนและยา ซึ่งผู้กำหนดนโยบายจะต้องเข้าใจและต้องทบทวนว่ามีกฎระเบียบใดที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงวัคซีนและยาหรือไม่ แล้วต้องแก้ไขโดยเร็ว

“ทั่วโลกจะต้องให้ความสำคัญกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา ต้องไม่ปล่อยให้มันมาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการป้องกันและรักษาพยาบาลของประชาชน ยาและวัคซีนไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นปัจจัย 4 เป็นสินค้าเชิงคุณธรรมที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายจะต้องมีความกล้าหาญพอที่จะยกเลิกคำขอสิทธิบัตร หรือต้องประกาศทำ CL ยา (การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา) กรณีที่มีการจดสิทธิบัตรไว้แล้ว เพื่อทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงยาและวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกันและยั่งยืน” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยกล่าวย้ำ