สสส. หนุนภาคีเครือข่ายด้านอาหาร สวนผักคนเมือง ส่งผักอินทรีย์ให้กลุ่มเปราะบาง

14

สสส. หนุนภาคีเครือข่ายด้านอาหาร สวนผักคนเมือง ส่งผักอินทรีย์ให้กลุ่มเปราะบาง ชุมชนแออัด เยียวยาผลกระทบโควิด-19 แก้ปัญหาระยะยาวส่งเสริมปลูกผักอินทรีย์/ปลอดสาร สร้างอาหารพึ่งพาตนเอง ขณะที่ผลวิจัยโดย IHPP ย้ำชัดคนจนเมือง 85.4% ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เพราะเงินไม่พอ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับ แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ศึกษาผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการทางสังคมต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้ที่มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดยมีกลุ่มตัวอย่างผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัด จำนวน 900 คน จาก 9 ชุมชน ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.4 ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยสาเหตุมาจากอาหารไม่พอรับประทานเพราะมีเงินไม่พอมากที่สุดร้อยละ 53.7  รองลงมาร้อยละ 37.2 เกิดจากอาหารมีราคาแพงขึ้น และร้อยละ 35.7 มีความยากลำบากในการออกไปซื้ออาหาร

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยและไม่มีพื้นที่หรือทรัพยากรในการผลิตอาหารเอง รวมถึงไม่มีแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้ ส่งผลให้ร้อยละ 8.9 ต้องพึ่งอาหารแจกฟรีเป็นหลัก และร้อยละ 21.9 ต้องลดการกินอาหารลงอย่างน้อย 1 มื้อ จึงเห็นได้ชัดว่าเมื่อมีวิกฤต จําเป็นต้องมีมาตรการบรรเทาทุกข์ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดในเมือง ซึ่ง สสส. ได้สนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายด้านอาหาร เร่งจัดส่งผักอินทรีย์ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง และผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่การระบาดรอบแรกจนกระทั่งรอบล่าสุดในพื้นที่ชุมชนแออัด รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงอาหารด้วยการสร้างพื้นที่อาหารให้กับชุมชนที่มีความเปราะบางในเมือง

อาทิ โครงการ แปลง.ปลูก.ปัน สวนผักคนเมือง เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอาหารด้วยการสร้างพื้นที่อาหาร โดยมีการนำร่องใน 30 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 11 ชุมชน ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 19 ชุมชน ซึ่งช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพิงตนเองในยามวิกฤตได้

ด้านวรางคนางค์ นิ้มหัตถา ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า “กลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต” เริ่มโครงการเมื่อปี 2563 โดยมีแผนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางกลางเมืองใหญ่ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในการระบาดระลอกใหม่ ได้เริ่มระดมอาหาร อาทิ ข้าวสาร ผักผลไม้ และไข่ ส่งมอบให้กับชุมชนเปราะบาง จำนวนกว่า 10 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนคลองเตย ชุมชนเคหะร่มเกล้า กลุ่มแรงงานนอกระบบร่มเกล้า ชุมชนบ้านเอื้ออาทรรังสิต คลอง 1 ชุมชนนางเลิ้ง ชุมชนตรอกเฟื่องทอง-ตรอกวิสูตร ชุมชนบางบอน ชุมชนบ้านเอื้ออาทรพระราม 2 ชุมชนหมู่ 13 คลองหก ปทุมธานี และกลุ่มออมทรัพย์สัจจะชุมชนไทยเกรียง

วรางคนางค์ นิ้มหัตถา

โดยเป็นการรวบรวม รับซื้อผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นเกษตรอินทรีย์/ปลอดสารที่ได้รับผลกระทบระบายผลผลิตไม่ได้ อาทิ สุพรรณบุรี อ่างทอง นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี เชียงใหม่ และสุรินทร์ มากระจายยังพื้นที่เปราะบางในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ราคาไม่แพง และเครือข่ายเกษตรกรยังร่วมบริจาคเพิ่มให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย เช่น ขายไข่ไก่ 100 แผงก็จะให้เพิ่มอีก 50 แผง เป็นต้น

“รอบนี้ที่ชุมชนคลองเตย มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งกลุ่มที่ต้องกักตัวที่บ้าน และกลุ่มตกงานไม่มีรายได้ ทางกลุ่มฯ จึงได้ประสานงานผ่านเครือข่ายคลองเตยดีจัง ที่ทำงานในพื้นที่ เพื่อสำรวจปริมาณความต้องการอาหาร และได้นำอาหารสดมีคุณภาพสร้างสุขภาวะ เช่น ข้าวสาร ผักผลไม้ และไข่ไก่ แจกจ่ายให้กับชุมชนในรูปแบบจัดทำครัวกลางของชุมชน และจัดเป็นชุดยังชีพ สำหรับครอบครัวที่สามารถปรุงอาหารที่บ้านได้ โดยรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรมาส่งทุกวันศุกร์” วรางคนางค์ กล่าว