อาจารย์ มทร. พบ “ตุ๊กแกประดับดาว” ตุ๊กแกชนิดใหม่ของโลก

168

ครั้งแรกของโลกกับการค้นพบตุ๊กแกชนิดใหม่ “ตุ๊กแกประดับดาว” (Gekko pradapdao Meesook, Sumontha, Donbundit & Pauwels, 2021) ซึ่งค้นพบโดยคณะสำรวจสัตว์เลื้อยคลานบริเวณเขาหินปูนภาคกลาง นำทีมโดย ดร.วรวิทู มีสุข อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) ร่วมกับ นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ กรมประมง และ นางสาวณัฐสุดา ดรบัณฑิต นักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ตุ๊กแกประดับดาว” (Gekko pradapdao Meesook, Sumontha, Donbundit & Pauwels, 2021) ค้นพบขณะที่คณะสำรวจกำลังทำการสำรวจสัตว์เลื้อยคลานในถ้ำแห่งหนึ่งบริเวณเขาหินปูนภาคกลาง โดยได้พบตุ๊กแกชนิดหนึ่งมีลำตัวค่อนข้างแบนสีน้ำตาล ตาสีน้ำตาล มีจุดสีขาวประบนหัว ลำตัว แขน และขา โดยไม่เรียงตัวตามแนวขวางเกาะตามผนังหินปูนและวัสดุที่มีการนำไปไว้ในถ้ำจำนวนหนึ่ง ในเบื้องต้นไม่สามารถระบุชนิดได้ จึงเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบร่วมกับ Mr. Olivier S.G. Pauwels ภัณฑารักษ์ สถาบันธรรมชาติวิทยาแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งพบว่าเป็นตุ๊กแกที่ยังไม่เคยมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน จากลักษณะสีตัวที่สีน้ำตาลเข้ม-ดำ และมีจุดประสีขาวกระจายทั่วหัวและตัวเปรียบเสมือนดวงดาวที่พร่างพราวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน จึงเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ที่มาจากภาษาไทยว่า “ประดับดาว”

จากการสำรวจเขาหินปูนในภาคกลาง พบว่ามีสัตว์เฉพาะถิ่นอย่างยิ่ง (highly endemic species) อยู่หลายชนิด ได้แก่ ตุ๊กแกประดับดาว (Gekko pradabdao) ตุ๊กแกสยาม (G. siamensis) ตุ๊กแกถ้ำอาจารย์วีระยุทธ์ (G. lauhachindai) ตุ๊กกายถ้ำสระบุรี (Cyrtodactyrus chanhomeae) ตุ๊กกายลายจุดผีเสื้อ (C. papilionoides) และจิ้งจกดินข้างดำ (Dixonius melanostictus) ซึ่งสัตว์เลื้อยคลายเหล่านี้มีรายงานการพบในพื้นที่จำกัด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาระบบนิเวศเขาหินปูนในบริเวณนี้ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงจนกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์เหล่านี้มากนัก และมีกฎหมายในการปกป้องการนำสัตว์เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมเพื่อคงความสมดุลของระบบนิเวศเขาหินปูนภาคกลางอย่างยั่งยืน

นับเป็นความภาคภูมิใจของวงการวิชาการไทยอีกครั้ง ที่บุคลากรทางด้านวิชาการไม่หยุดศึกษาค้นคว้า สำรวจทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในประเทศและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักสู่สากล