มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่บุคลากรและนักศึกษา ทั้งชาวไทยและต่างชาติ คาดฉีดครบภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 สนองนโยบายการเปิดจังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางวิทยาเขตภูเก็ต ถือเป็นวิทยาเขตนานาชาติ กำลังเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่บุคลากรและนักศึกษาอย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าจะฉีดให้ครบภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อรองรับนโยบายภาครัฐมีแผนเปิดจังหวัดภูเก็ต เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดย ณ วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีบุคลากรของวิทยาเขตภูเก็ต ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วจำนวน 27% และรับวัคซีนเข็มแรกจำนวน 47% และอีก 21% อยู่ระหว่างการรอฉีดเข็มแรก ส่วนที่เหลืออีก 5% ไม่มีความประสงค์จะเข้ารับการฉีดวัคซีน
ส่วนกลุ่มนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างชาติที่ศึกษาในวิทยาเขตภูเก็ต ขณะนี้นักศึกษาไทย จำนวน 9.08 % ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และ 25% ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ส่วนอีก 2% กำลังอยู่ระหว่างรอรับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 8.19 % รอยืนยันวันฉีดเข็มที่ 1 โดยยังมีมีนักศึกษาไทยร้อยละ 43.76 ที่ยังไม่ลงทะเบียนรับวัคซีน ซึ่งทาง มอ.ตั้งเป้าว่าให้นักศึกษาได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 80%
ขณะที่บุคลากรและนักศึกษาต่างชาตินั้นได้ดำเนินการให้กลุ่มบุคลากรต่างชาติเข้ารับการฉีดวัคซีนไปแล้วโดยต้องแนบใบอนุญาตทำงาน (work permit) ประกอบตามข้อกำหนด ส่วนกรณีของนักศึกษาต่างชาติเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทำงาน (work permit) ตามข้อกำหนด แต่ถือว่าเป็นบุคลากรในนามองค์กรของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องและอยู่ระหว่างรอปรับเงื่อนไขในระบบ ซึ่งปัจจุบันคงเหลือนักศึกษาต่างชาติของวิทยาเขตภูเก็ตจำนวน 11.97% ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
“วิทยาเขตภูเก็ตได้แต่งตั้งกรรมการ ภายใต้โครงการ “ม.อ.ภูเก็ต วัคซีน 100%” เพื่อดูแลการเข้ารับวัคซีนของบุคลากรทุกกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับนักศึกษา ปีการศึกษา 2564 โดยวิทยาเขตได้ประสานไปยังคณะต่างๆ เพื่อเชิญชวนนักศึกษาใหม่ทุกคนเข้าร่วมรับวัคซีนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ หลังเตรียมเปิดจังหวัดภูเก็ตต้อนรับนักท่องเที่ยว ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564” รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ม.อ.ภูเก็ต ได้เร่งเชิญชวนและทำความเข้าใจให้กับประชาชนเร่งเข้ารับวัคซีน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมทำความเข้าใจให้แก่ประชาชนเพื่อให้คลายความกังวลต่อผลข้างเคียง เนื่องจากวัคซีนทุกตัวล้วนมีผลข้างเคียงทั้งสิ้น โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้สูงกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดกันตามปกติตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้น การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะช่วยลดการติดเชื้อโควิด-19 และลดโอกาสการเสียชีวิตหากติดเชื้อขึ้นมาแล้ว ยังเป็นการลดการแพร่การระบาดของโรค และถือเป็นการร่วมรับผิดชอบต่อประเทศและมวลมนุษยชาติด้วย