จิตแพทย์แนะดูแลจิตใจผู้ป่วย ในช่วงโควิด

11

ความกลัว ความเครียด หรือวิตกกังวล เป็นการตอบสนองที่ปกติต่อการถูกคุกคาม สิ่งที่เราไม่รู้ หรือความไม่แน่นอน ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะมีประสบการณ์ดังกล่าวเมื่อมีการแพร่ระบาดของ โควิด -19 รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชที่มีความผิดปกติจากการทำงานของสมอง ทั้งโรคสมาธิสั้นในเด็ก โรคไบโพลา และโรคจิตเภท นอกจากจะต้องการความเห็นใจแล้ว การอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นส่วนสำคัญมากที่จะช่วยให้คนไข้ไม่สูญเสียโอกาสและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

โรคสมาธิสั้นเป็นโรคทางจิตเวชที่มีความชุกที่เกิดขึ้นในเด็กมากที่สุด เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งทางชีวภาพ ได้แก่ พันธุกรรม ระบบประสาทซึ่งพบว่าส่วนหน้าทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณที่เกี่ยวกับการคิด การวางแผน การจัดลำดับ การควบคุมตนเอง รวมถึงมีสารในสมองที่สำคัญบางตัวน้อยกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ การเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมทำให้เด็กเป็นสมาธิสั้นมากขึ้น เช่น การเลี้ยงดูที่ตามใจมากจนไม่มีระเบียบวินัย และการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่างๆ เช่น ไอแพด แท็บเล็ต มือถือ รวมถึงโทรทัศน์ เป็นเวลานานๆ

พญ.ปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์และวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์/ เจ้าของเพจหมอแมวน้ำเล่าเรื่อง กล่าวว่า เด็กสมาธิสั้นจะมี 3 อาการหลัก ได้แก่ พฤติกรรมขาดสมาธิ พฤติกรรมซุกซนไม่อยู่นิ่ง หรือ รู้จักในฐานะ “เด็กไฮเปอร์” พฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจตนเอง  กลุ่มอาการเหล่านี้มักไม่ค่อยชอบที่ผู้ปกครองเข้าไปบังคับ หรือใส่ใจรายละเอียดมากๆ เช่นการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ ไม่เอามือสัมผัสใบหน้า การต้องอยู่ห่างจากคนอื่น หรือการไม่สามารถออกไปข้างนอกเหมือนปกติ ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตที่ฝืนธรรมชาติของเด็ก ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของเด็กและถามความรู้สึกเพื่อให้เด็กได้ระบาย สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือเด็กคือผู้ปกครองต้องสามารถจัดการอารมณ์ตัวเอง ไม่ใช้วิธีบำบัดความเครียดที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มเหล้า, ซื้อของออนไลน์จนเป็นหนี้สิน และใช้วิธีการผ่อนคลายความตึงเครียดให้เด็ก (1) ถามความรู้สึกเพื่อให้เด็กได้ระบาย พยายามช่วยหาทางออก เช่น หากเด็กอยากจัดงานวันเกิด ก็ชวนเพื่อนมาเป่าเค้ก อวยพรวันเกิดผ่านวิดีโอคอล

(2) สร้างบรรยากาศให้ใกล้เคียงปกติ คุยเรื่อง covid-19 เท่าที่จำเป็น อธิบายสถานการณ์ให้เด็กเข้าใจถึงการติดต่อและวิธีป้องกันโรค และไม่พูดให้ดูน่ากลัวว่าความเป็นจริง คนในครอบครัวไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไปเช่น เปิดสื่อตลอดเวลา พูดถึงโรคด้วยความตื่นกลัว ใช้แอลกอฮลพ่นเช็ดถี่เกินไปจะทำให้เด็กเครียดไปด้วย (4) หากิจกรรมทำที่ใกล้เคียงภาวะปกติที่สุด ชวนเด็กทำกิจกรรมที่ชอบ หลีกเลี่ยงการอยู่กับหน้าจอ และแม้ว่าจะไม่สามารถไปพบเพื่อนได้แต่ก็สามารถใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อกันได้  (5) หากเด็กอยากออกไปข่างนอกจริงๆ อาจให้ออกไปในที่มีความเสี่ยงน้อย เช่น สวรสาธารณะในหมู่บ้าน โดยบอกสอนเด็กถึงข้อระวังต่างๆ”

พญ.อารีรัตน์ สิริพงศ์พันธ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า ผู้ปกครองหลายคนมองข้ามภาวะสมาธิสั้นในเด็กเล็ก เพราะอาจจะไม่มีความผิดปกติที่ชัดเจน หรือไม่กล้าพาไปพบแพทย์เพราะกลัวเป็นตราบาป  ส่วนใหญ่จะพาพบหมอเมื่ออยู่ประถม  4-5 ที่เริ่มมีปัญหาเพราะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น แต่อยากให้มองว่า การไม่รักษาอาจทำให้เด็กสูญเสียโอกาส หากเขานิ่งได้อีกหน่อย จะเรียนรู้ได้มากขึ้น ทำให้เก่งและดีขึ้นกว่านี้ การรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์ ทั้งการปรับพฤติกรรม และทานยาควบคู่ไปด้วย

ซึ่งปัจจุบันมียาหลายชนิด ทั้งมากมาย มีผล 4 ชั่วโมง หรือ 8-12 ชั่วโมง ไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะลืมทานยาเมื่ออยู่ที่โรงเรียน แม้ช่วงนี้ ต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นอาจเกิดความตึงเครียดในครอบครัว แต่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้อยู่กับลูกและปรับจูนเข้าหากัน เพราะถ้าเขาโตแล้วจะไม่มีเวลาอยู่กับเรา อย่างไรก็ตาม พ่อแม่คือตัวอย่างที่ดี ไม่ควรใจร้อน เพราะเด็กจะมีพฤติกรรมตามสิ่งแวดล้อม และลองสังเกตพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆ ของลูกด้วย

โรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว เป็นความผิดปกติของทางอารมณ์สองแบบ คือ อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (mania) และอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (depressed) หรือในบางรายอาจมีอารมณ์ผิดปกติเพียงอย่างเดียว โรคไบโพลาร์เกิดจาก พันธุกรรมที่ผิดปกติ  และอาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง สารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล และจากสภาพแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียดมากๆ และโรคบางอย่าง เช่นไทรอยด์ฮอร์โมนผิดปกติ

พญ. วิลาวัลย์ กำจรปรีชา โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลพระราม9 กล่าวว่า ช่วงโควิดทำให้ผู้ป่วยไบโพลาขาดการรักษา ขาดยา และมีโอกาสสูงในการขาดการรักษา น่าเป็นห่วง ญาติควรสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง เช่นขาดยาหรือไม่ สามารถปรึกษาหมอได้เมื่อมีอาการไม่ดี ผู้ป่วยไบโพลาควรทำ 3 สิ่ง คือ หลีกเลี่ยงความเครียด นอนให้พอ และกินยาให้สม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นความผิดปกติของสารสื่อประสาท จำเป็นต้องมีตัวช่วยหากไม่ได้รับยาอารมณ์จะค้างอยู่ขั้วในขั้วหนึ่งนาน ทำให้การใช้ชีวิตแย่ลง และไม่ควรใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปเพราะจะไปกระตุ้นขั้วอารมณ์อ่อนไหว ทำให้อาการกำเริบ

ครอบครัวมีความสำคัญมากและการอยู่ใกล้ชิดเกินไป ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว อาจทำให้กระทบกระทั่งกัน โดยเฉพาะคนไทยจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เช่น รักกันแต่แสดงออกไม่เป็น การตำหนิคือความเป็นห่วง แต่ทำให้คนโดนรู้สึกไม่เติมเต็ม หมอจะทำจิตบำบัดครอบครัว สนับสนุนให้พูดคุยปรับความเข้าใจกัน สิ่งสำคัญ ไม่ควรใช้คำว่า “ไบโพลา” มาล้อเล่น หรือบูลลี่กัน เพราะมันเป็นการตีตราคนไข้โรคนี้โดยตั้งใจ ทำให้คนไข้อาย

ปัจจุบันเชื่อว่าของโรคจิตเภทเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งทางด้านร่างกาย เช่น พันธุกรรม สารเคมีในสมองและสมองบางส่วนมีความผิดปกติ และปัจจัยสภาพจิตใจ ได้แก่วิธีคิดที่เป็นปัญหา ความเครียด การสูญเสียครั้งใหญ่ๆ การอดนอนนานๆ  และการใช้ยาเสพติด เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรค โรคนี้พบได้ ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร

นพ. จตุภัทร คุณสงค์ โรงพยาบาลกรุงเทพ  กล่าวว่า คนไข้จิตเภทส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวและไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย การศึกษารายงานว่าเกิดจากสารเคมีในสมอง ดังนั้นยาสำคัญที่สุด จิตบำบัดอย่างเดียวไม่สารถช่วยได้  ในช่วงโควิด ญาติต้องอยู่ในระบบและหมั่นสังเกตผู้ป่วย อาการนอนไม่ค่อยหลับเป็นสัญญาณแรกที่แสดงถึงความผิดปกติ หากคนไข้หลุดจากระบบการรักษาไป แม้จะไม่นาน อาจทำให้ กลับไปเป็นปรกติช้า ปัจจุบันมีการพัฒนายาที่มีความจำเพาะ บล็อกเฉพาะสารที่เป็นปัญหา แต่ทำให้คนไข้มีชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตประจำได้ ยาบางตัวดูไม่ออกว่าเคยป่วย มี แบบฉีดเดือนละครั้ง รายสามเดือน

ในต่างประเทศจะมียารายหกเดือน ช่วยให้อาการจะไม่ถดถอย ส่วนใหญ่รักษาเร็ว แต่เมืองไทยการรักษาไม่ค่อยเห็นผล และทำให้ภาพลักษณ์ผู้ป่วยดูรุนแรง เนื่องจากมารักษาเมื่อเป็นมาก เพราะไม่เห็นความสำคัญของการกินยาต่อเนื่อง เช่น กินเฉพาะมีอาการเท่านั้น ความจริงต้องกินยาต่อเนื่องจนสารในสมองกลับเป็นปกติ และรักษาควบคู่กับการทำกิจกรรมบำบัดเพื่อฝึกวิธีคิดที่มีความยืดหยุ่น เชิงบวก สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เลวร้ายได้มากขึ้น

เป็นธรรมดาที่เราทุกคนต่างรู้สึกกลัว เครียด หรือวิตกกังวล ในขณะนี้ หากรู้สึกเครียด หรือไม่สามารถจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตนเองได้ สามารถขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง